ถ้าหากพูดถึงเรื่องสรรพคุณของกัญชา หลายคนอาจมีความคุ้นเคยกันดี ในแง่ที่ถูกนำมาใช้ทางด้านการแพทย์ แต่ขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งเพิ่งจะได้มีโอกาสรับรู้ข้อดีของกัญชามากขึ้นหลังจากการปลดล็อกกัญชา เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ กัญชามีข้อดีอย่างไร เพราะอะไรวงการแพทย์ถึงให้การยอมรับ?
'กัญชาทางการแพทย์' จากอดีตสู่ปัจจุบันนั้น มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร สรรพคุณของกัญชาทางการแพทย์ใช้รักษาโรคหรืออาการอะไรได้บ้าง วันนี้เราจะพาคุณย้อนเวลากลับไปเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกัญชาทางด้านการแพทย์กัน
กัญชาทางการแพทย์ไทยในอดีต
มีหลักฐานทางโบราณคดีที่ทำให้เชื่อได้ว่าคนในสมัยก่อนใช้กัญชาเพื่อเหตุผลทางด้านจิตวิญญาณ จากการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณอายุราว 12,000 ปี ใกล้กับเทือกเขา Flaming Mountains ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน โดยด้านข้างโครงกระดูก พบกัญชาที่มีค่า THC สูง
กัญชาเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีผลออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทหากใช้อย่างไม่มีความรับผิดชอบ ซึ่งพืชกัญชาถูกใช้เป็นยารักษาโรคมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ โดยสันนิษฐานกันว่าคนในยุคนั้นนำกัญชามาเผาไฟที่ด้านในสุดของถ้ำ และสูดดมกลิ่นควันของกัญชา
นอกจากนี้ ยังมีการสันนิษฐานว่าประเทศไทยได้มีการนำเข้ากัญชามาจากประเทศอินเดีย โดยอ้างอิงหลักฐานจากชื่อที่มีความคล้ายกัน คือ 'ganja' ในภาษาฮินดี
ในปี พ.ศ.2465 ประเทศไทยได้มีการตราพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษขึ้น และมีการแก้ไขรายละเอียดในพระราชบัญญัติในฉบับสุดท้าย ในปี พ.ศ. 2562 แต่กัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษอยู่
ตำรับยากัญชารักษาโรค สมัยกรุงศรีอยุธยา
ย้อนกลับไปในอดีตเกี่ยวกับกัญชาในประเทศไทย พบว่า เรามีประวัติการใช้กัญชาในแบบทั้งที่เป็นตัวยาหลักและเป็นส่วนผสมในตำรับยาไทย เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยมาแล้วอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2175-2231) ซึ่งโรคที่สามารถรักษาพร้อมส่วนผสมของกัญชา มีดังนี้
- บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง
ตำรับยาในส่วนนี้จะเน้นในเรื่องของการรักษาอาการทางกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งมีตำรับยาที่น่าสนใจ ได้แก่
- ตำรับยาเนาวนารีวาโย: เป็นตำรับยาแผนไทยที่มีการจารึกไว้บริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและมือเท้าชา มีตัวยาหลัก ๆ ได้แก่ กัญชา, กานพลู, ขิงแห้ง, ลูกจันทน์, อบเชย และตาหม่อน
- ตำรับยาอัมฤตย์โอสถ: บรรเทากล้ามเนื้อเส้นเอ็นมือเท้าชา แก้ลมกษัย มีส่วนผสมหลัก ได้แก่ สมอเทศ, กัญชา, ลูกมะตูม, ดีปลี, โกฐเขมา และพริกไทย เป็นต้น
- บรรเทาอาการคลื่นไส้
ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ก็ได้มีสูตรยากัญชาทางการแพทย์ที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการคลื่นไส้ และลดการอาเจียนได้จากตำรับยาไทย ดังนี้
- ตำรับอัคคินีวคณะ: เป็นยาขนานที่ 11 ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ที่นอกจากจะช่วยแก้อาการคลื่นไส้แล้ว ยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย มีส่วนผสมหลัก ได้แก่ กัญชา, เปลือกอบเชย, ใบกระวาน, กานพลู และน้ำตาลกรวด เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับการแพทย์แผนปัจจุบันที่ในสารประกอบ cannabinoids มาใช้ในการรักษาผลข้างเคียงอันเกิดจากการรับเคมีบำบัด
- ลดความเครียดและกังวล
ในกัญชามีสารประกอบ CBD ที่มีสรรพคุณลดความเครียดและความวิตกกังวลได้ ซึ่งในตำรับยาไทยก็ได้มีการนำมาใช้แล้วตั้งแต่อดีต ได้แก่
- ตำรับยาแก้อาการทางจิต: ซึ่งเป็นลักษณะของความเครียดและความวิตกกังวลส่งผลต่อการนอนหลับ ซึ่งอาการทางจิตเกิดขึ้นได้หลากหลาย เช่น อ่อนเพลีย, เวียนศีรษะ, วิตกกังวล และนอนไม่หลับ เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายถึงอาการทางจิตเวชแต่อย่างใด
- กระตุ้นความอยากอาหารและปรับปรุงการนอนหลับ
CBD และ THC เป็นสารประกอบในกัญชาที่สามารถกระตุ้นความอยากอาหารได้ซึ่งเป็นสรรพคุณของ THC ซึ่งในตำรับยาสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เราได้นำมาใช้ ได้แก่
- ตำรับยาศุขไสยาศน์: คำว่า 'ศุข' เป็นคำโบราณที่แปลว่า ความสุข และคำว่า 'ไสยาศน์' แปลว่า การนอน เพราะฉะนั้นจากชื่อตำรับยาศุขไสยาศน์จึงสามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าเป็นตำรับยาที่ช่วยให้กินข้าวได้ นอนหลับอย่างมีความสุขนั่นเอง มีส่วนผสมหลัก ๆ ได้แก่ การบูร, ใบกัญชา, สมุลแว้ง, เทียนดำ, ลูกจันทน์ และพริกไทย เป็นต้น
สารประกอบกัญชากับเภสัชวิทยาคลินิก
ในกัญชาจะมีสารประกอบอยู่ 2 ชนิด ด้วยกัน ได้แก่ CBD (cannabidiol) ที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและ THC (tetrahydrocannabinol) ซึ่งออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หากใช้กัญชาที่มี THC สูงอย่างต่อเนื่อง อาจเสี่ยงต่อการเสพติดได้ ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้จะมีอยู่ในทุกส่วนของต้นกัญชา แต่จะพบมากที่สุดในช่อดอกกัญชาเพศเมียทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาเพิ่มเติมได้ที่นี่
จากการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการและการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพกับสัตว์ทดลองพบว่าทั้ง CBD และ THC มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว, มะเร็งเต้านม, มะเร็งช่องปาก และมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น ไม่เพียงเท่านี้ยังมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย
กัญชาทางการแพทย์ในปัจจุบัน
จากอดีตการใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคมักใช้ใบกัญชามาเป็นส่วนผสมในตำรับยาหรือไม่ก็ใช้วิธีการเผาไหม้แล้วสูดดมกลิ่น
แต่ในปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พร้อมหน่วยงานสำคัญอย่างกระทรวงสาธารณสุขได้มีการขับเคลื่อนเดินหน้าเรื่องกัญชาทางการแพทย์อย่างเต็มที่ซึ่งเป็นการผนึกกำลังร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (GPO) ขยายคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 75 แห่งทั่วประเทศ พร้อมผลิตภัณฑ์ในการรักษาโรคอย่าง 'สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ชนิดหยดใต้ลิ้น' หรือที่รู้จักกันดีใน 'น้ำมันกัญชา' นับเป็นสารสกัดกัญชาชนิดแรกของไทยที่ผลิตและผ่านกระบวนการต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายไทยกำหนด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ชนิดหยดใต้ลิ้น
หรือน้ำมันกัญชาขององค์การเภสัชกรรม (GPO) มีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
- สูตร THC เด่น
ใน 1 หยด ประกอบไปด้วย THC 0.5 มิลลิกรัม ใช้รักษาควบคู่ไปกับการรักษาตามมาตรฐานที่ผู้ป่วยรักษาไว้ก่อนหน้านี้ และใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้จากการรับเคมีบำบัด, ผู้ที่เบื่ออาหาร และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- สูตร CBD เด่น
ใน 1 มิลลิลิตร จะประกอบไปด้วย CBD 100 มิลลิกรัม ใช้รักษาผู้ที่เป็นโรคลมชักที่รักษายากในผู้ป่วยเด็ก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยา และใช้ตามที่แพทย์สั่ง
- สูตร THC:CBD 1:1
ใน 1 มิลลิลิตร ประกอบด้วย THC 27 มิลลิกรัม และ CBD 25 มิลลิกรัม ใช้กับผู้ที่มีอาการคลื่นไส้จากการรับเคมีบำบัด, ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง, โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และผู้ที่มีอาการปวดตามเส้นประสาท เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า 'กัญชา' มีสรรพคุณทางยามากมาย เป็นที่รู้จักกันดีและมีการใช้ประโยชน์มาแล้วนับพันนับหมื่นปี แต่อาจขาดหายไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากการใช้กัญชาอย่างไม่มีความรับผิดชอบ ส่งผลให้กัญชาถูกขึ้นบัญชีเป็นยาเสพติดให้โทษ แต่ด้วยสรรพคุณทางยาของกัญชาที่ให้ผลดีทางการแพทย์ ส่งผลให้กัญชาถูกนำกลับมาใช้เพื่อเป็นการรักษาโรคอีกครั้งในปัจจุบัน และจริงจังมากขึ้นในอนาคต เพียงแต่ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากกัญชา ควรใช้อย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งเราแนะนำว่าควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนการใช้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีสุดในแต่ละบุคคล