ด้วยปัจจัยแห่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่นำพาประเทศชาติสู่ "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ" จะต้องมาพร้อมกับ "ความเชื่อมั่น" มาตรฐานความสามารถของห้องปฏิบัติการ จึงเปรียบเสมือน "ฐานกำลังสำคัญ" ในการผลิตผลิตภัณฑ์และงานวิจัยคุณภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ และอาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของคณะฯ ที่มุ่งสร้างห้องปฏิบัติการให้ได้มาตรฐาน ISO/IEC 17025: 2017
โดยได้รับประกาศนียบัตร รับรอง จาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม มีอายุการรับรองมาตรฐาน 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2566 - 24 มกราคม 2569
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการให้ได้มาซึ่งห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ISO/IEC 17025: 2017 ในระยะแรกเน้นที่งานบริการวิชาการ จึงเริ่ม "ห้องปฏิบัติการเคมี" เพื่อการทดสอบโลหะหนักในน้ำดี - น้ำเสีย ก่อนจะขยายสู่ "ห้องปฏิบัติการปรสิตวิทยา" ซึ่งจะรับการรับรองในเรื่องการตรวจหาไข่หนอนพยาธิในน้ำทิ้งและกากตะกอนที่ผ่านระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลแล้ว เพื่อสนับสนุนแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและหนอนพยาธิต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขอันจะช่วยยกระดับการสาธารณสุขของประเทศสู่มาตรฐานสากล
ขั้นตอนการส่งตรวจ เริ่มจากรับสิ่งส่งตรวจที่จุดรับตัวอย่างจากหน่วยงานผู้รับบริการ เพื่อลงทะเบียนตัวอย่างทำให้สามารถติดตาม (tracking) ตัวอย่างได้ตลอดจนกระทั่งออกรายงานผลการวิเคราะห์ตัวอย่างนั้นเรียบร้อย
รองศาสตราจารย์ ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่าการได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025: 2017 ยังถือเป็น "บัตรผ่านสำคัญ" ของการผลิตผลงานวิจัย และนวัตกรรม เพื่อการเผยแพร่ในวงการวิชาการและการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ โดยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง(stakeholders) และสามารถอ้างอิงได้ตลอดระยะเวลาของการรับรอง
ด้วยคณะของเรามีถึง 13 ภาควิชา หรือ 13 สาขาวิชา ซึ่งมีความแตกต่างกัน แต่รวมกันเป็นหนึ่ง คือ สาธารณสุข จึงทำให้ทั้งการเรียนการสอน และการบริการวิชาการมีความหลากหลายตามไปด้วย
คณะฯ ได้ทำงานวิจัยและวิขาการส่วนหนึ่งร่วมกับภาคเอกชน เช่น ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจึงส่งผลถึงความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์และทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ถึงความปลอดภัย และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอีกด้วย
นอกจากนี้ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมุ่งสู่ SDGs การพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ด้วย ทำให้การพัฒนามาตรฐานห้องปฏิบัติการเป็นไปอย่างมีทิศทาง และสามารถเป็น "ต้นแบบ" แห่งการศึกษา และพัฒนาวิชาการ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ด้วย "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานฯ
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th