ปัจจุบันธุรกิจทั่วโลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทรนด์ของการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้จัดงาน Symposium 2023 งานประชุมวิชาการนานาชาติ ภายใต้แนวคิด "Sustainable Logistics : Smart and Green" เพื่อเป็นเวทีแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากกูรูไทยและต่างประเทศ เกี่ยวกับเทรนด์ธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อความยั่งยืน ตลอดจนแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการในยุคที่เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง
ในการประชุมนานาชาติครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้ทราบถึงแนวทางการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน และแนวทางการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินงาน ความสำคัญในการปรับตัวและพัฒนาองค์กรเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนของธุรกิจโลก รวมถึงการรับมือกับมาตราการ CBAM ของอียูที่จะประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
หัวข้อแรกของการบรรยาย คือ การนำ Smart & Green เทคโนโลยีไปใช้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ โดย นายอับดุลลา อัลสุไวดี ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายฮับและพันธมิตร และ นายมามู้ด อัล บาสตากี ผู้จัดการทั่วไป จากเดอะ เวิลด์ โลจิสติกส์ พาสปอร์ต (WLP) ซึ่งเป็นหน่วยงานโลจิสติกส์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีความโดดเด่นในการให้บริการขนส่งแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation)
ผู้เชี่ยวชาญจาก WLP ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกรีนโลจิสติกส์ โดยยกตัวอย่างของ DP World ที่นำโซลูชันเทคโนโลยีดิจิทัลไปปรับใช้กับท่าเรือใน 6 ทวีปทั่วโลก ทำให้ประสิทธิภาพการขนส่งเพิ่มขึ้น ลดเวลาการจอดคอยของพาหนะที่ใช้ในการขนส่ง ลดการใช้เชื้อเพลิง ส่งผลให้การปล่อยคาร์บอนในอากาศลดลง
DP world มุ่งที่จะเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน โดยกำหนดกลยุทธ์ที่จะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการลดคาร์บอน ด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่สามารถนำมาพัฒนาประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ให้เป็นไปตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ WLP, DUBUY, DFALLIANCE, CARGOES
สำหรับหัวข้อต่อมา คือ วิธีการที่ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ (LSPs) ในประเทศอาเซียนปรับตัว และก้าวไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ชาญฉลาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บรรยายโดย นายอัลวิน ฉั่ว เซ็ง วา นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของมาเลเซีย (FMFF) เปิดเผยว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เนื่องจากผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในอาเซียนเป็น SMEs ประมาณร้อยละ 80 ส่งผลให้การพัฒนาด้านกรีนโลจิสติกส์ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับดูแลด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จัดตั้งโดยสมาพันธ์ผู้รับจัดการขนส่งสินค้าแห่งอาเซียน (AFFA) ได้ย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในอาเซียนจะต้องปรับตัวและพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กัน เพื่อพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
นายอัลวิน ยังได้กล่าวถึงมาตรการทางภาษีคาร์บอน หรือ CBAM ว่าจะมีผลบังคับใช้สำหรับสินค้าที่ส่งไปจำหน่ายในอียูตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 โดยช่วงแรกบังคับใช้กับสินค้าปูน เหล็ก อลูมิเนียม ปุ๋ย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณมากในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น และอาจกระทบกับผู้ผลิตวัตถุดิบที่ส่งสินค้าไปจำหน่ายในยุโรป เพราะอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาด หากไม่สามารถปรับตัวให้พร้อมรับมือกับกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายอับดุลลา อัลสุไวดี นายมามู้ด อัล บาสตากี นายอัลวิน ฉั่ว เซ็ง วา พร้อมด้วย นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับรางวัลผู้ประกอบการที่มีความเป็นเลิศ ด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ประจำปี 2559 และ 2562 ยังได้ร่วมกันอภิปรายในหัวข้อ โอกาสและความท้าทายของธุรกิจโลจิสติกส์ กับเทรนด์อนาคตและมาตรการ CBAM
นายเกตติวิทย์ ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน และการปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับกฏข้อบังคับของอียูยังเป็นการสร้างมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร ในทางกลับกัน หากไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ สุดท้ายอาจสูญเสียคู่ค้าไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ส่วนใหญ่เป็น SMEs การจะปรับเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นเรื่องยาก จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านตัวแทนจากดูไบ กล่าวถึงความท้าทายในการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนว่ามี 3 ปัจจัย ได้แก่ การไม่บังคับใช้กฏเกณฑ์อย่างจริงจัง ธรรมชาติของคนไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ พนักงาน และผู้นำองค์กรมีหน้าที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดความตระหนักรู้ภายในองค์กร และปัจจัยสุดท้ายซึ่งสำคัญที่สุด คือ เงินลงทุน
เมื่อองค์กรมีการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วจะสร้างโอกาสมากมาย เช่น การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถตรวจสอบติดตามสถานะได้อย่างชัดเจนในทุกขั้นตอน สุขภาพของประชาชนในภาพรวมดีขึ้น สิ่งแวดล้อมสะอาดขึ้น ที่สำคัญเป็นการสร้างโอกาสในการเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ และสร้างเครือข่ายกับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายอัลวิน ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในอาเซียนส่วนใหญ่กำลังเผชิญ ได้แก่ ระบบพิธีการศุลกากรของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบเทคโนโลยี เนื่องจากแต่ละประเทศในอาเซียนใช้ระบบพิธีการศุลกากรไม่เหมือนกัน แตกต่างจากอียูที่ใช้ระบบพิธีการศุลกากรร่วมกัน ทำให้การขนส่งสินค้าเกิดความล่าช้า อีกทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็น SMEs หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือลดขั้นตอนทางพิธีการฯ ได้ ด้วยเหตุนี้ ประเทศในอาเซียนจึงมีความพยายามที่จะสร้าง ASEAN Single Window (ASW) เพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานด้านพิธีการศุลกากรของแต่ละประเทศไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้ ผู้ร่วมอภิปรายได้กล่าวถึงมาตรการ CBAM ว่าหากพิจารณาสินค้าที่บังคับใช้มาตราการ เช่น ปูน เหล็ก อลูมิเนียม ปุ๋ย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาจยังไม่ส่งผลกระทบกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในอาเซียน แต่ในฐานะผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ถ้าสามารถพัฒนาระบบการขนส่งของตนเองให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จะเป็นการช่วยลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมอภิปรายเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ CBAM จะขยายไปครอบคลุมสินค้าอื่นๆ ดังนั้น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ รวมถึงผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้า จะต้องเริ่มปรับปรุงกระบวนการทำงาน ปรับเปลี่ยนวิธีการขนส่งสินค้าที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอากาศ เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศต่อไป