เครือข่ายหลักสี่ย่านสีเขียวจัด POP PARK BKK สร้างทางเชื่อมต่อระหว่างสวน ให้ทุกคนในย่านเข้าถึงง่าย-ปลอดภัย หวัง โมเดลนี้จะนำไปสู่การทำประชาคมทั้ง 50 ย่าน ขยายสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรอบ
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566) ThaiPBS ร่วมกับ we!park และ สำนักงานเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรม POP PARK BKK เปิดวงเสวนา 'เชื่อมคน เชื่อมย่าน หลักสี่สีเขียว' ถอดแนวคิดสวน 15 นาที กระจายทั่วกรุงเทพฯ นักวิชาการชี้ สวนเล็ก ๆ จะช่วยเชื่อมต่อโครงข่ายย่านสีเขียว ให้ทุกคนในเมืองเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวัน ทางภาคประชาชนเผยทางเท้าระหว่างจุดยังไม่ต่อเนื่อง แนะรัฐเชื่อมต่อจุดสีเขียวให้คนเดินสะดวก
รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้ร่วมกล่าวเปิดงาน POP PARK BKK โดยระบุว่า พื้นที่สีเขียวที่อยู่รอบตัวเรามีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยเยียวยาจิตใจและอารมณ์ การออกกำลังกายในสวนสาธารณะในช่วงเช้าจะช่วยให้ร่างกายพร้อมต่อวันใหม่ นอกจากนี้พื้นที่สีเขียวยังมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงานของคนในออฟฟิศ โดยพื้นที่ร้อยละ 16 ของสถานี Thai PBS จะถูกจัดสรรเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะ ให้คนทั่วไปในย่านเข้ามาใช้ได้ และจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายย่านหลักสี่สีเขียวอีกด้วย และแนะว่า การจัดการพื้นที่จะดีได้ต้องเริ่มต้นจากการรับฟังเสียงของคนในชุมชน
สมฤดี ลันสุชีพ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ กล่าวว่าทางสำนักงานเขตได้มีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายโยธาฯ ฝ่ายรักษาความสะอาด ตลอดจนฝ่ายพัฒนาชุมชน เพื่อให้การจัดการพื้นที่สีเขียวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนมองหาพื้นที่ว่างมาพัฒนาเป็นส่วนหย่อม โดยใช้มาตรการลดหย่อนทางภาษีเพื่อดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยหวังว่าพื้นที่เหล่านี้จะถูกพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป
ด้านรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จักกพันธุ์ ผิวงาม เผยว่า ทางกรุงเทพฯ พยายามมองหาพื้นที่ว่างมาจัดสรรเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนอยู่เสมอ แต่ที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นสร้างสวนขนาดใหญ่ทำให้คนต้องเดินทางไกล-เข้าถึงยาก ตอนนี้จึงมุ่งเน้นเพิ่มจำนวนส่วนหย่อมตามชุมชน ตรอก ซอย ให้คนสามารถเข้าใช้งานได้เสมือนเป็นทางผ่านในชีวิตประจำวัน โดยการออกแบบได้รับการช่วยเหลือจากทาง we!park ตลอดจนฝ่ายโยธาฯ ฝ่ายพัฒนาชุมชน ฝ่ายรักษาความสะอาดแล้ว แต่ยังต้องการส่วนร่วมจากภาคประชาชนและเอกชนในการทำให้จุดเชื่อมต่อสีเขียวนี้เกิดขึ้นได้จริงและกลายเป็นโครงข่ายย่านสีเขียว
ทาง ยศพล บุญสม หัวหน้าโครงการ we!park และเครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ ชี้ว่าจุดสำคัญของสวน 15 นาทีอยู่ที่การเดินทาง มากกว่าปลายทางอย่างสวน ซึ่งการจะทำให้เครือข่ายเชื่อมต่อจุดสีเขียวสามารถเป็นไปได้ ต้องอาศัยประชาคมจากคนในย่าน แนะว่าทุกคนต้องมองเห็นว่าเราไม่ใช่แค่สร้างสวนหย่อม แต่เรากำลังสร้างแวดล้อมสีเขียวที่เชื่อมโยงกัน เริ่มนำร่องที่หลักสี่ก่อน จากนั้นตนก็มีความคาดหวังว่าโมเดลนี้จะนำไปสู่การทำประชาคมทั้ง 50 ย่านเชื่อมต่อกัน
"ที่สำคัญคือ พื้นที่ของภาครัฐอย่างเดียวก็คงไม่พอ เพราะฉะนั้นเป็นที่มาของประชาคม ที่ดินเอกชนอย่างไทยพีบีเอส หรือโรงแรมรามาการ์เด้น ก็จะมีส่วนในการทำให้เราเข้าถึงพื้นที่สุขภาวะใน 15 นาที ต่อจากนี้เราอยากจะขยายผลจากการมองแค่สวน เปลี่ยนมามองเป็นย่าน จะเอาพื้นที่เอกชน พื้นที่ของรัฐ มาเชื่อมให้เกิดเป็นโครงข่ายจะทำให้เรามีสุขภาวะที่ดี"
ภายในวงเสวนา 'เชื่อมคน เชื่อมย่าน หลักสี่สีเขียว' ได้มีการแลกเปลี่ยนประเด็นจากหลายภาคส่วน ตัวแทนของภาคเอกชนอย่าง ฐิติพงศ์ ปานบางพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลโรงแรมรามาการ์เด้นส์ ที่ร่วมเป็นหนึ่งในโครงข่ายย่านสีเขียว โดยในอนาคตจะมีการเปิดพื้นที่สวนบริเวณโรงแรมให้เป็นพื้นที่สาธารณะ สร้างการออกแบบที่ทำให้บุคคลภายนอกเข้าถึงพื้นที่ภายในโรงแรมได้ง่ายขึ้น ระบุว่าอยากให้พื้นที่นี้มีประโยชน์ต่อสังคม ยอมรับส่วนหนึ่งว่าเป็นการประชาสัมพันธ์โรงแรมด้วย แต่นี่จะเป็นโมเดลธุรกิจสีเขียวแบบใหม่ ที่จะทำให้คนในย่านได้ประโยชน์จากการใช้สอย และเมื่อย่านมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ก็จะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ โรงแรมก็จะคึกคัก และผลประโยชน์นี้จะกลับคืนสู่คนทุกฝ่าย
รศ.พนิต ภู่จินดา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองเห็นว่า พื้นที่สีเขียวขนาดเล็กเหล่านี้ นอกจากจะช่วยทำให้คนกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวต่อหัวให้อยู่ที่ 9 ตรม. ต่อคนตามมาตรฐาน WHO แล้วนั้น พื้นที่เหล่านี้ยังทำให้คนสามารถพักผ่อนหย่อนใจได้ โดยไม่ต้องตั้งใจเดินทาง เพียงเดินผ่านไป-กลับในชีวิตประจำวันก็เข้าถึงได้แล้ว และเมื่อมีคนมาใช้งานสวน มาพักผ่อน มาออกกำลังกาย ก็จะนำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรอบ ย่านจะมีความคึกคักมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญนอกจากสวนที่เป็นปลายทางแล้ว เส้นทางเดินระหว่างสวนนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน ถ้าเรามีสวนสวยแค่ไหนแต่เดินไปไม่ได้ก็สูญเปล่า
ด้าน คมพศิษฎ์ ประไพศิลป์ สถาปนิกชำนาญการพิเศษ หัวหน้าฝ่ายโยธาฯ สำนักงานเขตหลักสี่ ระบุว่า การดำเนินงานก่อสร้างทางเท้าเพื่อเชื่อมจุดสีเขียวในย่านหลักสี่นั้นกำลังอยู่ในขั้นของการประชาพิจารณ์ จากนั้นการก่อสร้างจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 900 วัน ยอมรับว่าการก่อสร้างนั้นยังพบอุปสรรคด้านเสาไฟฟ้า สายไฟ สายสัญญาณ คูคลองต่าง ๆ เนื่องด้วยผังเมืองเดิมของกรุงเทพนั้นยากต่อการต่อขยาย ตลอดจนการเวนคืนที่ดินเอกชน ทางกทม. ก็พยายามร่วมประสานกับกรมทางหลวง อยู่เสมอ แต่ก็ไม่ได้ยากเกินที่จะทำ ย้ำว่าหากสำเร็จจะช่วยสร้างเมืองที่คนเดินได้และเดินดี โครงข่ายทางเท้านี้จะวนรอบซอยวิภาวดีรังสิต 64 ไปยังแจ้งวัฒนะซอย 1 และต่อขยายไปทางบางบัวให้เป็นวงกลมรอบย่าน ซึ่งจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าและขนส่งมวลชนหลายแห่ง
หลังจบการเสวนา ทางเครือข่ายได้เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ประชาชนคนในพื้นที่ ร่วมเดินเท้าจากลานหน้าสถานี ThaiPBS เพื่อเดินไปยัง Park Lane Vipa 62 ในซอยวิภาวดีรังสิต 62 ระหว่างทางได้มีการแวะพักตามจุดสีเขียวที่เป็นเส้นเชื่อมต่อเป็นช่วง ๆ เมื่อถึงที่หมาย ได้มีวงดนตรีสดรอต้อนรับกลุ่มเครือข่าย และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนจากประสบการณ์ที่ได้ลองเดินเท้ามายังสวนหย่อมแห่งนี้ พบว่าหลายคนหวังให้มีต้นไม้ร่มรื่น ทางเท้าสะดวกเป็นระเบียบ มีโต๊ะม้านั่ง ไฟส่องสว่างตามทางเดิน และ สวนเด็กเล่น ตลอดจนการมีพื้นที่สำหรับการออกกำลังกายในชุมชน
เสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้ใช้จักรยาน ระบุว่า อยากเห็นทางสัญจรในหลักสี่ถูกพัฒนาศักยภาพให้สามารถใช้จักรยานได้สะดวก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ก็มีแค่จักรยานคันเล็ก ซึ่งอาจจะออกถนนใหญ่ลำบาก ถ้ามีทางคอยอำนวยความสะดวกจะยิ่งทำให้การเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวภายในย่านได้สะดวกมากขึ้น
หลังจบช่วงการรับฟังความคิดเห็น กลุ่มเครือข่ายย่านสีเขียวร่วมกันปลูกต้นไม้บริเวณทางเท้าซอยวิภาวดีรังสิต 62 เพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญของการร่วมพัฒนาหลักสี่ให้เป็นย่านสีเขียวต้นแบบต่อไป