นักวิจัยม.อ. ค้นพบ "ปูแสมบกโต๊ะแดง" ปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก จ.นราธิวาส สปีชีส์ที่อาศัยอยู่ในป่าที่ราบต่ำใกล้ระดับน้ำทะเลเป็นครั้งแรก

ข่าวทั่วไป Tuesday August 29, 2023 15:35 —ThaiPR.net

นักวิจัยม.อ. ค้นพบ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา Lee Kong Chian ค้นพบ 'ปูแสมบกโต๊ะแดง' ปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก ที่ป่าพรุ บริเวณตามต้นหลุมพีในวงศ์ปาล์ม จ.นราธิวาส โดยเป็นกลุ่มสปีชีส์ที่อาศัยอยู่ในป่าที่ราบต่ำใกล้ระดับน้ำทะเลเป็นครั้งแรก มีลักษณะโดดเด่นกระดองโค้งนูนชัดเจนเมื่อมองไปทางด้านหน้าปู ท้องปล้องที่ 6 เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู พร้อมเดินหน้าเตรียมสำรวจปูสกุล Geosesarma ในพื้นภาคใต้ของประเทศไทยต่อเนื่อง

นายพัน ยี่สิ้น นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ นักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า นักวิจัย ม.อ. โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี ได้ทำการสำรวจร่วมกับ ศ. ดร.ปีเตอร์ อึง แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา Lee Kong Chian มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ค้นพบปูแสมบกโต๊ะแดง ซึ่งเป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกจากระบบนิเวศน์ของป่าพรุ บริเวณตามต้นหลุมพี พรรณไม้ป่าพรุในวงศ์ปาล์ม ที่จังหวัดนราธิวาส โดยปูแสมบกโต๊ะแดง มีลักษณะคล้ายกับปูแสมภูเขาและปูอื่นในสกุล Geosesarma อีกหลายชนิด มีลักษณะกระดองเป็นรูปสี่เหลี่ยม ด้านบนกระดองครึ่งส่วนหน้าและก้ามมีสีเหลืองหรือส้ม ส่วนครึ่งส่วนหลังและขาเดินมีสีเข้มเป็นสีดำ เทา หรือน้ำตาล ลูกตาสีดำแซมด้วยลายจุดสีเทา เมื่อจำแนกจากลักษณะภายนอกของปูที่รยางค์ข้างปากที่ไม่มีแส้บนส่วนปลาย ขาเดินเรียวยาว และอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ที่เรียวยาวและส่วนปลายแบนยาว

สำหรับปูแสมบกโต๊ะแดง สามารถจัดอยู่ในกลุ่ม G. foxi species group มีแหล่งอาศัยเป็นพื้นที่สูง ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป นับเป็นการค้นพบสมาชิกใน species group อาศัยอยู่ในป่าที่ราบต่ำใกล้ระดับน้ำทะเลเป็นครั้งแรก ลักษณะของปูแสมบกโต๊ะแดงที่แตกต่างจากชนิดอื่นๆ ใน species group คือ มีกระดองโค้งนูนชัดเจนเมื่อมองไปทางด้านหน้าปู ส่วนท้องปล้องที่ 6 เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูและมีรายละเอียดของลักษณะอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้บางส่วนที่ต่างไป การค้นพบในครั้งได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลกว่า Geosesarma todaeng เพื่อสื่อความหมายถึงสถานที่พบปูชนิดนี้คือ บ้านโต๊ะแดง อ.สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ปูสกุล Geosesarma ค้นพบในประเทศไทย 2 ชนิด ได้แก่ ปูแสมภูเขา G. krathing แห่ง จังหวัดจันทบุรี และ G. serenei จากจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยปูแสมในสกุล Geosesarma เกือบทุกชนิดกลายเป็นปูบกตลอดวงจรชีวิต โดยออกลูกแบบฟักเป็นตัวปูขนาดเล็กภายในส่วนท้องของแม่ปูได้ โดยไม่ต้องผ่านการใช้ชีวิตเป็นตัวอ่อนระยะแพลงก์ตอนในน้ำ ทำให้ไข่มีขนาดเม็ดที่ใหญ่ ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับที่พบในปูน้ำจืดกลุ่มอื่นๆ อย่างวงศ์ปูป่าและปูน้ำตก และวงศ์ปูนาและปูลำห้วย ส่วนที่แตกต่างคือปูสกุลนี้จะไม่ลอกคราบในน้ำ แต่จะลอกคราบได้บนผืนดินเท่านั้น ซึ่งปูจะได้น้ำจากอาหาร ที่ประกอบด้วยสัตว์จำพวกแมลงและส่วนต่างๆ ของพืช และยังคงใช้แหล่งน้ำชั่วคราวที่พบได้ในป่าสำหรับการแลกเปลี่ยนน้ำในเหงือกสำหรับการหายใจ ซึ่งเป็นร่องรอยที่ยังคงเหลืออยู่ของการเป็นสัตว์น้ำ

นายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ นักวิทยาศาสตร์ประจำพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า การค้นพบปูแสมบกโต๊ะแดงในครั้งนี้ ไม่พบตัวเมียมีไข่นอกกระดอง ส่วนพฤติกรรมการลอกคราบเป็นไปในรูปแบบเดียวกับปูส่วนใหญ่ของสกุลหรือไม่นั้นยังต้องมีการศึกษาสำรวจเพิ่มเติมต่อไป นอกจากนั้นในอนาคตจะทำการสำรวจพื้นที่ของปูชนิดนี้เพิ่มเติมในพื้นที่อื่นๆ เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะมีปูสกุล Geosesarma ในพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้ของประเทศไทยที่ยังไม่ถูกรายงาน ซึ่งปูสกุลดังกล่าวเกือบทั้งหมดจะไม่พบในพื้นที่มีคูคลองใกล้จะออกสู่ทะเลและป่าชายเลน อาจก่อให้เกิดความสับสนคิดว่าปูที่มีหน้าตาคล้ายกันในบริเวณนี้เป็นปูสกุลดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ