ภายใต้นโยบาย "Green Campus" ตั้งแต่เมื่อกว่าทศวรรษที่ผ่านมา พลิกโฉม "หน้าบ้าน" ของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ให้เขียวร่มรื่นสะอาดตา
และด้วยนโยบายพลิกโฉม "บ้านมหิดล" หรือ "หอนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา" ที่เปรียบเสมือน "ที่พำนักอาศัยแห่งที่ 2" ของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งส่วนใหญ่เคยอยู่สมัยเรียนปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 โดยในปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2,000 ราย ให้ร่วมตระหนักและเรียนรู้การจัดการขยะ ได้สร้างความประทับใจจากการเป็น "บ้านมหิดลน่าอยู่" ซึ่งนักศึกษาทุกคนในบ้านพร้อมใจกันแยกขยะเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย "Zero Waste" หรือขยะเท่ากับศูนย์ในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ก้าวแรกของการจัดการขยะ คือ การรู้จัก "แยกขยะ" ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่มหาวิทยาลัยมหิดลปลูกฝังนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาที่พำนักอยู่ภายใน "บ้านมหิดล" วิทยาเขตศาลายา
ภายใต้ "โครงการบริหารจัดการขยะหอพักนักศึกษา" ดำเนินการโดย งานหอพักนักศึกษา กองกิจการนักศึกษาร่วมกับ กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะ พร้อมลงมือทำจนเป็นนิสัย โดยหวังให้เป็น"ทักษะชีวิต" ที่ติดตัวนักศึกษาไปจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาพร้อมขยายผลสู่ครอบครัว และบุคคลรอบข้าง เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และอนาคตของโลก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าวต่อไปว่า ก่อนเริ่มโครงการฯ มหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตศาลายา "บ้านมหิดล" วิทยาเขตศาลายา มีปริมาณขยะมากถึงเดือนละเกือบ 10 ตัน แต่มีขยะรีไซเคิลเพียง 400 กิโลกรัม เมื่อจัดให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้ารับการอบรมจนเกิด "ทักษะแยกขยะ" ผ่านไปครึ่งปี ทำให้มีขยะรีไซเคิลเพิ่มขึ้นถึงกว่า 6 เท่า หรือ 2,500 กิโลกรัม
"น้องปลื้ม" นางสาววทัญยา น้อยมี นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ทำงานใน "โครงการบริหารจัดการขยะหอพักนักศึกษา" และพักอยู่ใน "บ้านมหิดล" กล่าวว่า "ขยะมีค่า ถ้ารู้จักรีไซเคิล" ปัจจุบันขยะซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของ"บ้านมหิดล" ได้แก่ ขยะที่มาจากกล่องพัสดุขนาดต่างๆ ซึ่งสามารถจัดการได้โดยแกะพับลดขนาดก่อนรวบรวมนำส่ง"ธนาคารขยะ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา" เพื่อประเมินค่ากลับมาเป็นรายได้
นอกจากนี้ขยะจากขวดพลาสติก จากถังขยะสีเหลือง ยังสามารถรวบรวมนำไปต่อยอดใช้ทำประโยชน์ในโครงการต่างๆ ได้อีก อาทิ โครงการผลิตชุด PPE เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ตามที่รุ่นพี่นักศึกษา "บ้านมหิดล" เคยทำไว้
ด้าน "น้องหลิงหลิง" นางสาวพิมพกานต์ สายอุปราชนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล อีกหนึ่งในนักศึกษาที่ทำงานใน"โครงการบริหารจัดการขยะหอพักนักศึกษา" และพักอยู่ใน"บ้านมหิดล" กล่าวเพิ่มเติมว่า "วิธีการจัดการขยะที่ดีที่สุดคือการเริ่มต้นที่ตัวเอง" ซึ่งที่ "บ้านมหิดล" วิทยาเขตศาลายาแบ่งการทิ้งขยะตามสีของถัง
โดย "ขยะทั่วไป" กำหนดให้ทิ้ง "ถังสีฟ้า" "ขยะเปียก" ทิ้ง"ถังสีเขียว" และจะมีการรวบขยะประเภทเศษอาหารใส่ลงไปใน "ถังหมักรักษ์โลก" ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จัดไว้หลัง "บ้านมหิดล" เพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้สำหรับขยะจากขวดพลาสติกส่วนใหญ่มักมาพร้อมน้ำในขวดที่ดื่มไม่หมด สามารถเทน้ำออกก่อนใส่ลงภาชนะที่รวบรวมเพื่อนำไปรดต้นไม้ให้งอกงาม ก่อนแยกขวดที่เทน้ำออกแล้วใส่ลงถังสีเหลืองเพื่อรวบรวมนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ต่อไป
"Refill Station" เป็นจุดหนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตศาลายา ที่สามารถรองรับการใช้ประโยชน์จากขยะประเภทขวดพลาสติก โดยหลังจากที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว สามารถนำไปใช้เติมน้ำยาชนิดต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับชีวิตชาวหอฯ ได้แก่ สบู่เหลว แชมพู น้ำยาล้างจานน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ฯลฯ จากเครื่องจ่ายน้ำยาอัตโนมัติที่จัดไว้แบบบริการตัวเอง ณ บริเวณหน้า "บ้านมหิดล"
ทั้งหมดนี้เป็น "กลวิธีแยกขยะ" ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงเดินหน้ารณรงค์เพื่อลดปริมาณขยะสู่เป้าหมาย "Zero Waste" ในโลกยุค Net Zero ซึ่ง "การจัดการขยะ คือ การจัดการตัวเองสู่ชีวิตใหม่"
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th