ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (IB Club) ร่วมกับ บริษัท ฟินน์คอร์ป แอดไวซอรี่ จำกัด จัดงาน Capital Market Case Competition in Investment Banking ("CMCC") การแข่งขันด้านวาณิชธนกิจในตลาดทุนครั้งแรกในไทย หัวข้อ "ทางเลือกใหม่ของการระดมทุน (Alternative Ways of fundraising)" สนับสนุนให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา พัฒนาความรู้ เตรียมความพร้อมเข้าสู่สายอาชีพด้านวาณิชธนกิจ (IB) ภายใต้การดูแลและการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ผ่านเข้ารอบ 5 ทีม ลุ้น Final Round วันที่ 10 กันยายน 2566 ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 250,000 บาท
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการชมรมวาณิชธนกิจ เปิดเผยว่า ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (IB Club) และ บริษัท ฟินน์คอร์ป แอดไวซอรี่ จำกัด ร่วมกันจัดงาน Capital Market Case Competition in Investment Banking ("CMCC") การแข่งขันด้านวาณิชธนกิจในตลาดทุนครั้งแรกของประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ "ทางเลือกใหม่ของการระดมทุน (Alternative Ways of fundraising)"
การจัดโครงการ CMCC มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาและดึงดูดนิสิตนักศึกษาที่มีความสามารถเข้าสู่เวทีการแข่งขัน และสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันมีโอกาสพัฒนาความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนเพิ่มเติมในประเด็นที่ตนเองสนใจ รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้บริหารในสายงานวาณิชธนกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สายอาชีพด้านวาณิชธนกิจหรือที่ปรึกษาการเงินในตลาดทุน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุน การลงทุนและการพัฒนาตลาดทุน ให้แก่ผู้ลงทุน ประชาชน หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
"ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนบริษัทจดทะเบียนและมูลค่าตลาดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดเอ็มเอไอ (mai) มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นความสนใจของกิจการที่ต้องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่นเดียวกับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีจำนวนตราสารและมูลค่าที่เสนอขายต่อนักลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่จำนวนผู้ที่เข้ามาทำงานและสอบผ่านหลักสูตรที่ปรึกษาทางการเงินรวมถึง ผู้ควบคุมการปฏิบัติงานที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก ส่งผลให้ปัจจุบันบุคลากรด้านวาณิชธนกิจมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทุน
เพื่อมิให้เกิดข้อจำกัดทางด้านบุคลากรด้านวาณิชธนกิจหรือที่ปรึกษาการเงินในตลาดทุน ในการให้คำปรึกษาต่อกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ การควบรวมกิจการ รวมถึงการทำรายการสำคัญของบริษัทจดทะเบียน ชมรมวาณิชฯ จึงดำเนินการจัดโครงการ CMCC ขึ้นเป็นครั้งแรก และคาดหวังว่าจะสามารถดึงดูดนักศึกษาให้เกิดความเข้าใจและสนใจเข้ามาทำงานด้านวาณิชธนกิจ อันจะเป็นการสร้างบุคลากรให้มีเพียงพอต่อความต้องการของตลาดทุน และสามารถเชื่อมโยงความต้องการของบริษัทสมาชิกของชมรมวาณิชธนกิจ" นายสมภพ กล่าว
นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ในฐานะประธานกรรมการจัดงาน กล่าวเสริมว่า โครงการ CMCC อยู่ภายใต้การดูแลและการให้คำแนะนำจากคณะกรรมการโครงการ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากคณะกรรมการชมรมวาณิชธนกิจ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัท ฟินน์คอร์ป แอดไวซอรี่ จำกัด รวมทั้ง ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจากองค์กรต่าง ๆ ในภาคตลาดทุน มหาวิทยาลัย ทั่วประเทศ และองค์กร AIESEC in Thailand โดยในปีนี้ทางโครงการได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (FMART) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่นำมาใช้เป็นโจทย์สำหรับการแข่งขันกรณีศึกษาในรอบสุดท้าย
นอกจากเรื่องการแข่งขันของนิสิตนักศึกษา ทางโครงการ CMCC ยังได้มีการจัดทำ Ed-Tech E-Learning Platform ที่สามารถให้บุคลากรในอุตสาหกรรมและนิสิตนักศึกษาสามารถเข้าเรียนรู้ ได้ตลอดเวลา โดยทีมงานมีการพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรใหม่ ๆ ใน Platform ให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับยุคสมัยอยู่เสมอ รวมทั้ง เปิดหลักสูตรการเรียนรู้ต่าง ๆ มากกว่าแค่เรื่องการเงิน เช่น หลักสูตรการทำ Finance-UX/UI หลักสูตรกฎหมายตลาดทุนไทย เป็นต้น รวมทั้ง องค์กรที่เข้ามาใช้บริการ Platform จะสามารถเข้าถึงเครือข่ายเยาวชนที่สนใจหางานในอุตสาหกรรมผ่าน Platform ด้วย
"โครงการนี้จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน นิสิต นักศึกษา ผู้จบการศึกษาใหม่ที่อยากจะเข้ามาทำงานในสายอาชีพนี้ รวมถึงจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านวาณิชธนกิจ และเชื่อมโยงความต้องการที่ตรงกันของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและเยาวชนไทย โดยในท้ายสุดจะเกิดประโยชน์กับตลาดทุนโดยรวม จากการที่มีบุคลากรที่เหมาะสมและเพียงพอ" นายสมศักดิ์ กล่าว
นายพรพุทธ ริจิรวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน ฟินน์คอร์ป ในฐานะผู้อำนวยการจัดงานและผู้รับผิดชอบโครงการ CMCC กล่าวว่า สำหรับการแข่งขันโครงการ CMCC ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ ได้ผ่านกระบวนการคิด กลั่นกรอง เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมและชัดเจนที่สุด โดยโจทย์การแข่งขันในปี 2023 คือ "Alternative ways of Fund Raising ทางเลือกใหม่ของการระดมทุน สำหรับบริษัทจดทะเบียน" เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินและคิดค้นกลยุทธ์ที่บริษัทจดทะเบียนขนาดกลาง โดยให้ผู้เข้าแข่งขันร่วมมือกันเสนอแนวคิดและแนวทางใหม่ ๆ แก่บริษัทที่เป็นกรณีศึกษา ในการพัฒนาแนวคิดการระดมทุนและขยายกิจการของบริษัท
ปัจจุบัน ได้ดำเนินการแข่งขัน และคัดเลือกเหลือ 5 ทีมเรียบร้อยแล้ว โดยการแข่งขันในรอบที่ 3 จะมีขึ้นในช่วง 27 สิงหาคม จนถึง 10 กันยายน 2566 ซึ่งโจทย์คือ "Work with your Mentor, Do anything to win the competition - CMCC 2023!" เป็นการนำผลงานในรอบที่ 2 มาปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์และดีที่สุดเพื่อนำเสนอ On Stage โดยเปรียบเสมือนการที่ได้เข้า Pitch งานจริงกับลูกค้า ผู้เข้าแข่งขันจะต้องมีแนวทางการนำเสนอที่ตื่นเต้น น่าฟัง และโน้มน้าวคนฟังได้อย่างน่าสนใจ
ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีม นอกจากจะได้รับความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และมิตรภาพจากการเข้าร่วมแข่งขันแล้ว ผู้เข้าร่วมทุกคนยังมีโอกาสได้รับเลือกให้เข้าทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินชั้นนำของไทย มากไปกว่านั้น ผู้เข้าร่วมการแข่งขันยังมีโอกาสได้ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 250,000 บาท
ทั้งนี้ ทีมผู้จัดงานตั้งเป้าหมายความร่วมมือที่จะจัดงาน CMCC ขึ้นทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศมาเข้าร่วมการแข่งขันและต่อยอดโอกาสในการทำงานกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย