ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ลงทุนทิสโก้ (TISCO ESU) ชี้ ลงทุนตราสารหนี้สหรัฐฯ อายุ 10 ปีช่วงนี้ ภายใน 1 ปีอาจได้รับผลตอบแทนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) และส่วนต่างราคาสูงถึง 4-10% พร้อมแนะลดการลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสเสี่ยงปรับฐาน
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า ยังคงเน้นย้ำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ และลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น เพราะตราสารหนี้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจและมีความเสี่ยงที่ไม่สูงนัก โดยในช่วงที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) อายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นมา เป็น 4.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี จากระดับ 3.7-3.8% ในเดือนก่อน ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า Bond yield น่าจะเพิ่มขึ้นได้จำกัดต่อจากนี้ โดยอาจเคลื่อนไหวที่ระดับ 4.3% ในระยะสั้น ก่อนจะลดลงสู่ระดับที่ 3.9% ในช่วงสิ้นปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในช่วงท้ายปี
ทั้งนี้ หากสถานการณ์เป็นไปตามคาด การลงทุนในพันบัตรอายุ 10 ปี จะได้รับผลตอนแทนจากส่วนต่างของราคาอีก 2-3% เพิ่มจากผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่ราว 4% ทำให้ผลตอบแทนรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 6% ในกรอบระยะเวลาการลงทุน 1 ปี แต่ในกรณีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า และ Fed ต้องกลับมาลดดอกเบี้ยลงเร็วและแรงกว่าที่คาด จะทำให้ Bond yield ลงมาอยู่ที่ระดับ 3.0% กรณีนี้ผลตอบแทนรวมอาจเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10%
"ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า Bond yield น่าจะเพิ่มขึ้นได้จำกัดต่อจากนี้ เนื่องจากตลาดรับรู้ผลกระทบปัจจัยลบ 3 ประเด็นไปแล้วพอสมควร ได้แก่ 1. การขยายกรอบ Yield Curve Control ของธนาคารกลางญี่ปุ่น 2. การขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มากกว่าตลาดคาด และ 3. การปรับลดอันดับ Credit rating ของตราสารหนี้ระยะยาวสหรัฐฯนอกจากนี้ มองว่าตลาดปัจจุบันมีมุมมองที่ค่อนข้างสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) แล้ว โดย Fed ส่งสัญญาณว่าจะค้างดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงนานกว่าการขึ้นดอกเบี้ยในรอบก่อน (Higher-for-Longer) ในขณะที่ ตลาด Fed Fund Futures ประเมินว่า Fed จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งก็คือ ในอีก 9 เดือนข้างหน้า นานกว่าการขึ้นดอกเบี้ยรอบก่อน ในปี 2559 - 2562 ที่ 7 เดือน และใกล้เคียงกับเฉลี่ยการปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 รอบล่าสุดที่ 10 เดือน" นายคมศรกล่าว
ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นโลก คาดว่าหุ้นจะถูกกดดันจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอลง ประกอบกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่กลับมาเพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อยังมีผลจากฐานของปีที่แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้น โดยหากอัตราเงินเฟ้อ (CPI) เฉลี่ยอยู่ที่ 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) ต่อเนื่อง เท่ากับอัตราปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อเทียบกับปีก่อน ณ สิ้นปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 4% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) สูงกว่า 3% ที่นักวิเคราะห์คาด อัตราเงินเฟ้อที่น่าจะออกมาสูงกว่าคาดประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอลง ซึ่งเป็นภาพที่ตรงกันข้ามกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก จะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นโลกในช่วงที่เหลือของปีนี้และมีความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นจะปรับฐาน