นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลรองรับผู้ป่วยจากเชื้อไวรัส RSV ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดโรคระบบทางเดินหายใจในช่วงปลายฤดูฝน อาทิ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัส RSV โรคโควิด 19 โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ
รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค จัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย จัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคในฤดูฝน ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัส RSV ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการรักษาตามอาการ เนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ ทั้งรับประทานและฉีด ไม่มีวัคซีน การรักษาคือ พ่นยา ดูดเสมหะ ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำยาลดไข้ พร้อมจัดเตรียมเวชภัณฑ์สำหรับการป้องกันและรักษาโรค ตั้งจุดคัดกรองด้านหน้าทางเข้าโรงพยาบาล ตรวจวัดอุณหภูมิ จัดจุดบริการเจลล้างมือให้ประชาชนที่มารับบริการที่โรงพยาบาล
รวมถึงกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง กำหนดมาตรการการรักษาและวินิจฉัยโรค พร้อมจัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมและรักษาโรคไวรัส RSV เพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าวภายในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิเด็กทุกคนก่อนเข้ามาภายในศูนย์ฯ หากพบจะแจ้งผู้ปกครองพาพบแพทย์ตรวจรักษาต่อไป หรือหากเด็กภายในศูนย์ฯ มีอาการป่วยด้วยโรคติดต่อ เจ้าหน้าที่จะทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคภายในบริเวณศูนย์ฯ ทันที
นอกจากนั้น สนพ.ยังได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้และประชาสัมพันธ์สร้างความความเข้าใจ ย้ำเตือนประชาชนต้องระมัดระวังดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยและครบ 5 หมู่ สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ดื่มน้ำมาก ๆ ล้างมือให้สะอาด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
สำหรับผู้ป่วยควรพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ควรเข้าไปที่ชุมชน หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนให้มาฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นและวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่สามารถฉีดพร้อมกันได้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยควรรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง ติดต่อได้ที่หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลที่รับบริการเป็นประจำ หรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ "กระเป๋าสุขภาพ" แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" จองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้าโรงพยาบาลสังกัด กทม.จองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ ส่วนผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" สามารถ โทร.สายด่วน สปสช.1330 กด 8 เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ ทั้งนี้ การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ หากไม่สามารถทำนัดหมายได้ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการโดยตรง
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า สนพ.ได้สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ความรู้โรคติดต่อและการป้องกัน เช่น โปสเตอร์ แผ่นพับ แผ่นปลิว สื่ออินเทอร์เน็ต ให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทุกแห่งประชาสัมพันธ์ความรู้ให้สุขศึกษาแก่ประชาชน โดยเฉพาะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแลผู้สูงอายุในการดูแลรักษาสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อ โดยเฉพาะในสถานที่ที่คนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า สถานดูแลผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันได้ทำหนังสือแจ้งเตือนมาตรการการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อไวรัส RSV
รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทุกแห่ง สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขต เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ ประชาชนผู้มารับบริการ ผู้ปกครองและนักเรียนในสถานศึกษาต่าง ๆ นอกจากนั้น ในสถานศึกษายังจัดให้มีมาตรการคัดกรองนักเรียนในสถานศึกษา โดยคัดกรองเด็กก่อนที่จะเข้าสถานศึกษา หากพบเด็กป่วยให้ผู้ปกครองพากลับบ้าน เพื่อไปพบแพทย์ทันทีและแนะนำให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ หากพบเด็กป่วยในโรงเรียนให้ทำความสะอาดห้องเรียนด้วย