บมจ.เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ "GFC" เคาะราคาเสนอขาย IPO ที่ระดับ 7.00 บาทต่อหุ้น เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 4-6 ก.ย.66 จ่อตบเท้าเข้าเทรดตลาดหลักทรัพย์ mai ในหมวดธุรกิจบริการ วันที่ 13 ก.ย.นี้ ชูจุดเด่นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์ สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากรายแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดมทุนต่อยอดขยายสาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 และสาขาอุบลราชธานี เล็งขยายฐานกลุ่มลูกค้าต่างชาติเพิ่ม สู่การสร้าง New S-Curve ให้กับ GFC ในอนาคต พร้อมแต่งตั้ง บล.โกลเบล็ก เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และ บล.กรุงศรี พัฒนสิน , บล.ดาโอ , บล.บียอนด์ และ บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) จำนวน 60 ล้านหุ้น
วันที่ 1 กันยายน 2566 - บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ"GFC" ลงนาม ในสัญญาแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย (Lead Underwriter) พร้อมแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Co-Underwriter) ในการเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวนไม่เกิน 60 ล้านหุ้น คิดเป็น 27.27% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้(พาร์) 0.50 บาท โดยเสนขายที่ระดับราคา 7.00 บาท
นายกิตติพันธ์ ภูษณวรรณ กรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ในฐานะ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ( Lead Underwriter ) ของ บมจ. เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ เปิดเผยว่า ล่าสุดได้มีการกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวนไม่เกิน 60 ล้านหุ้น คิดเป็น 27.27% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้(พาร์) 0.50 บาท ที่ระดับราคาหุ้นละ 7.00 บาท โดยกำหนดเปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 4-6 กันยายนนี้ และคาดว่าหุ้น GFC จะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจบริการ ในวันที่ 13 กันยายน 2566 ภายใต้ใช้ชื่อย่อ "GFC"
สำหรับราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 7.00 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) ที่ 21.17 เท่า เมื่อเทียบกับ P/E กลุ่มซึ่งอยู่ที่ระดับ 31.32 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมเมื่อพิจารณาจากผลการดำเนินงานย้อนหลัง 4 ไตรมาสล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนผู้เข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากเพิ่มขึ้น
ภายใต้จุดเด่นที่น่าสนใจของ GFC คือการเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งแต่ให้คำแนะนำ คำปรึกษา ตลอดจนการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และเราถือว่าเป็นผู้ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้รายแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ด้านนายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด เปิดเผยในฐานะบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินว่า ด้วยจุดแข็งของ GFC นอกจากจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยากแบบเฉพาะทางรายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว GFC ยังเป็นศูนย์รวมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีชั้นนำด้านการเจริญพันธุ์ เพื่อผู้หญิงยุคใหม่ และคู่สมรสที่อยากมีบุตรที่สมบูรณ์ แข็งแรง มาเติมเต็มความสุขของครอบครัว จากแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชและเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่มีประสบการณ์ด้านการให้บริการทางการแพทย์ผู้มีปัญหามีบุตรยากมากกว่า 23 ปี โดยพิสูจน์จากอัตราความสำเร็จ ( Success Rate ) ที่ GFC มีเป็นเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จในการรักษาการตั้งครรภ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม และจากความสำเร็จดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงาน GFC ที่มีอัตราการเติบโตของรายได้โตเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 13.37% โดยกลุ่มบริษัทฯมีรายได้จากการให้บริการในปี2563 - ปี2565 และงวด 6 เดือนปี 2566 เท่ากับ 214.42 ล้านบาท 242.12 ล้านบาท และ 275.91 ล้านบาท และ 166.95 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ สำหรับรายได้จากการให้บริการของกลุ่มบริษัทฯ จะสอดคล้องกับจำนวนผู้เข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI เป็นรายได้หลัก ขณะที่กำไรสุทธิปี 2563 -2565 และงวด 6 เดือนปี 2566 เท่ากับ 66.55 ล้านบาท 69.63 ล้านบาท 65.68 ล้านบาท และ 34.33 ล้านบาท ตามลำดับ อีกทั้ง อัตราส่วน ROE และอัตราส่วน ROA สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยบริษัทมีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงกว่าค่าเฉลี่ย และสูงสุดถึง 72.29%
"ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน มองว่า GFC เป็นหุ้นที่น่าลงทุน และเป็นหุ้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่ GFC จะขยายสาขาเพิ่มอีก 2 แห่ง ยิ่งเป็นการสร้าง New S-Curve ให้กับบริษัทฯในอนาคต ดังนั้นจึงมองว่าหุ้น GFC สามารถตอบโจทย์การลงทุนของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี"
นพ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ รองประธานกรรมการ บมจ. เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ "GFC" เปิดเผยว่า ธุรกิจศูนย์ให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากมีโอกาสเติบโตอย่างโดดเด่นในอนาคต จากปัจจัยพฤติกรรมของประชากรที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะค่านิยมในการดำเนินชีวิตที่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จและความพร้อมก่อนการมีบุตร ทำให้ประชากรกลุ่มวัยเจริญพันธุ์มีแนวโน้มการแต่งงานช้าลง ซึ่งถือเป็นโอกาสของกลุ่มบริษัท GFC ในการสร้างรายได้จากการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากกับประชากรวัยเจริญพันธุ์ที่มีบุตรช้า ผ่าน 5 กลุ่มการให้บริการ ได้แก่ 1. การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา 2. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI 3. การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI 4. การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (NGS) และ 5. การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากเติบโตเพิ่มขึ้น นั้น มาจากการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยาก (Fertility Tourism) ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจาก Allied Market Research ในปี 2562 พบว่า ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 11.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าในปี 2570 ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกจะมีมูลค่าประมาณ 33.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 14.20 ต่อปี
โดยมองว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงที่สุด หรือมีมูลค่าประมาณ 5.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2570 และประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของ Fertility Tourism ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ซึ่งสอดรับกับการออกประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดที่จะแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการอุ้มบุญบางมาตรา เพื่อให้คู่สามีภรรยาชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำการอุ้มบุญในไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงส่งผลดีต่อการเติบโตของตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ของประเทศไทยในอนาคต
นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร "GFC" กล่าวเสริมอีกว่า GFC พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในภูมิภาคอาเซียน ที่มีความมั่นคงยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของกลุ่มบริษัทฯ ภายใต้กลยุทธ์ในการแข่งขัน ได้แก่ 1. การให้บริการแบบครบวงจร 2. เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ทันสมัย 3. บุคลากรที่มีความชำนาญการ 4. คุณภาพในการให้บริการที่เป็นเลิศ และ 5. การประชาสัมพันธ์และความสัมพันธ์กับลูกค้า และที่สำคัญ GFC พิสูจน์ถึงศักยภาพและความพร้อมก้าวสู่ธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยากรายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ในครั้งนี้
ซึ่งเม็ดเงินที่ได้ จำนวน 420.00 ล้านบาท บริษัทฯจะนำไปขยายการลงทุนโครงการคลินิกสาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 เพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยากครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างให้คลินิกสาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 เป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของกรุงเทพฯ สำหรับการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยาก นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนลงทุนโครงการคลินิกสาขาอุบลราชธานี เพื่อขยายฐานการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากไปยังกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแผนการขยายการลงทุนดังกล่าว ถือเป็นยุทธ์ศาสตร์การกระจายความเสี่ยงของรายได้ ที่ไม่อยู่ในกรุงเทพฯเพียงอย่างเดียว เนื่องจากบริษัทฯยังคงมีแผนขยายพื้นที่ในการให้บริการของกลุ่มบริษัท ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศมากขึ้น ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวจะสร้าง New S-Curve เพื่อมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนให้ GFC ในอนาคต
"ในฐานะ CEO มองว่า GFC จัดเป็นหุ้นประเภท Growth Stock ที่สามารถให้ผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ และบริษัทฯ มีเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจในอนาคตที่สูง ด้วยการลงทุนต่อยอดธุรกิจที่ชัดเจนดังนั้นจึงอยากให้นักลงทุนเติบโตไปพร้อมกับGFC"