สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) แนะผู้ปกครองสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระวังป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) เน้นย้ำป้องกัน ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของร่วมกัน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) เกิดจากการที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ สามารถพบผู้ป่วยได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึงผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง จะพบบ่อยในฤดูฝนและฤดูหนาว อาการโดยทั่วไปคล้ายไข้หวัดธรรมดา มักพบในเด็กเล็ก โดยเริ่มแรกจะมีอาการเพียงเล็กน้อย ได้แก่ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจมีเสียงหวีด รับประทานอาหารได้น้อยและซึมลง การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่า พบเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ทั่วโลกติดเชื้อไวรัส RSV ถึงปีละ 33 ล้านคน เสียชีวิต 66,000 ถึง 199,000 รายต่อปี เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เข้าโรงพยาบาลโดยเฉลี่ย 213,000 รายต่อปี กลุ่มเสี่ยงรองลงมา คือ ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี โดยเฉลี่ย 158,000 รายต่อปี จากคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน และกลุ่มอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันที่ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ มากที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ในระหว่างปี 2560 - 2565 พบผู้ป่วย 40,316 ราย และกลุ่มเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี พบผู้ป่วย 27,438 ราย เมื่อจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มอายุที่พบมากสุด คือ อายุ 1 ปี (28.46%) รองลงมา อายุ 2 ปี (21.96%) อายุน้อยกว่า 1 ปี (17.80%) อายุ 3 ปี (16.77%) อายุ 4 ปี (9.87%) และอายุ 5 ปี (5.14%) ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 2565)
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัด สงขลา กล่าวถึง การป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แนะนำผู้ปกครอง สังเกตอาการบุตรหลาน โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้ล้างมือด้วยสบู่หรือน้ำสะอาดบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณหน้า ตา จมูก ปาก ควรปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอจาม ให้สวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงพาเด็กไปเล่นในสถานที่อยู่รวมกันจำนวนมาก ทำความสะอาดบ้านและสิ่งของที่สัมผัสเป็นประจำ หากมีอาการป่วยควรให้หยุดเรียน และพาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป
นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานศึกษา 1. จัดให้มีระบบการคัดกรองนักเรียนป่วยก่อนเข้าสถานศึกษา 2. หากพบว่ามีนักเรียนป่วย อาจพิจารณาปิด/เปิดสถานศึกษาเพื่อการชะลอการระบาดของโรคและการแพร่กระจายเชื้อ (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสถานศึกษา) 3. โรงเรียนควรทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียน ให้ผู้ปกครองและนักเรียนเข้าใจความจำเป็นที่จะต้องให้นักเรียนที่ป่วยหยุดเรียน 4. การจัดการภายในสถานศึกษา 4.1 สถานศึกษาจัดเตรียมจุดล้างมือ (น้ำพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์) เน้นห้องน้ำและโรงอาหาร 4.2 ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสร่วม เช่น ราวบันได เครื่องเล่นคอมพิวเตอร์ จุดตู้น้ำดื่มเป็นประจำ 4.3 จัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้ ณ ห้องพยาบาล 4.4 จัดกิจกรรมออกกำลังกาย เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน 4.5 ให้นักเรียนจัดเตรียมแก้วน้ำและช้อนรับประทานอาหารเป็นของตนเอง หากพบการเจ็บป่วยเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียน ให้รีบแจ้งหน่วยงานสาธารณสุข ในพื้นที่เพื่อทำการควบคุมโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422