วีโร่ บริษัทที่ปรึกษาผู้ให้บริการด้านการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ เปลี่ยนบรรยากาศภายในสำนักงานกรุงเทพฯ เนรมิตโถงออฟฟิศให้กลายเป็นป๊อปอัพสโตร์แฟชันมือสอง ต้อนรับทั้งผู้มาเยือนและพนักงานด้วยชั้นวางไอเทมสินค้าแฟชันและตู้โชว์เสื้อผ้าที่สร้างขึ้นจากโครงอลูมิเนียมและแผ่นไม้ที่นำมารีไซเคิล นำเสนอแอกเซสซอรี่หลากหลายสไตล์และแขวนโชว์เสื้อผ้าดีไซน์สุดชิค ตั้งแต่ผ้ายีนส์วินเทจ เครื่องประดับระยิบระยับ เสื้อผ้าสตรีทสุดฮิป ชุดราตรีสุดหรู ค็อกเทลเดรส และเสื้อผ้าบุรุษที่มีให้เลือกมากมาย
ป๊อปอัพสโตร์แฟชันมือสองภายใต้ชื่อ 'The Good Shop' เป็นโครงการที่ให้พนักงานในออฟฟิศของวีโร่สามารถซื้อ ขาย และส่งต่อไอเทมแฟชันที่ใช้แล้วแต่ยังมีสภาพดีให้แก่กันโดยไม่มุ่งเน้นผลกำไร เพื่อส่งเสริมแนวทางการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและอาจเป็นจุดเริ่มต้นของป๊อปอัพสโตร์สินค้ามือสองในออฟฟิศที่แรกของกรุงเทพฯ ก็ว่าได้
นางสาวอุมาพร วิทเทเกอร์-ทอมป์สัน รองประธานบริหารกลุ่มฝ่าย Consumer Communications วีโร่ ประเทศไทย เผยว่า "แรงบันดาลใจที่เป็นจุดเริ่มต้นของร้าน The Good Shop เกิดจากความต้องการที่อยากให้ทุกคนได้สนุกกับแฟชันอย่างยั่งยืนมากขึ้น เราจึงอยากเผยแพร่แนวคิดด้าน slow fashion ให้เข้าถึงสมาชิกวีโร่ทุกคน โดย The Good Shop เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ชาววีโร่ได้ขายและส่งต่อไอเทมแฟชันที่อยู่ในสภาพดีให้สมาชิกวีโร่คนอื่น ๆ และส่งต่อคุณค่าให้ทุกคนร่วมกันสนับสนุนความยั่งยืนมากขึ้น พร้อมกับแสวงหาวิธีใหม่ ๆ ในการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองผ่านตัวเลือกแฟชันใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน"
นางสาวศีตลา แสงแก้ว ผู้อำนวยการฝ่าย Digital Creative วีโร่ ประเทศไทย กล่าวเพิ่มว่า "ทุกขั้นตอนของ The Good Shop เป็นไปตามแนวคิด 3R ได้แก่ Reduce (คิดก่อนใช้), Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) เราใส่ใจในคุณค่าของวัสดุที่นำมาใช้ทำบูธทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตู้ลิ้นชักที่ทำจากตะกร้าผลไม้เก่าและไม้แขวนเสื้อที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล แม้แต่ฐานของชั้นโชว์เสื้อผ้าเราก็ยังนำกล่องกระดาษแข็งที่เก็บไว้ในออฟฟิศมาใช้ รวมไปถึงป้ายเสื้อก็ยังทำจากกระดาษใช้แล้ว และเรายังเลือกยังใช้ตรายางในการปั๊มโลโก้ร้านเพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้าจากการพิมพ์ นอกจากนี้ เจ้าของสินค้ายังสามารถเขียนอธิบายเกี่ยวกับไอเทมชิ้นโปรดที่รอส่งมอบให้เจ้าของใหม่ได้ด้วย เราหวังว่า ร้าน The Good Shop จะส่งต่อแรงบันดาลใจให้ทุกคนเริ่มต้นสร้างไลฟ์สไตล์ที่ให้คุณค่ากับความยั่งยืนกันมากขึ้น เพราะจากก้าวเล็ก ๆ ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้"
ประเทศไทยกับเทรนด์ฟาสต์แฟชัน (Fast Fashion)
ประเทศไทยถือเป็นเมืองแห่งการช้อปปิงสินค้าฟาสต์แฟชัน และเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนก่อให้เกิดขยะสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่มีต่อแฟชันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความตระหนักรู้มากขึ้นเกี่ยวกับรอยเท้าทางนิเวศ (Ecological Footprint) ของอุตสาหกรรมแฟชัน โดยเฉพาะกลุ่มเจนซี (Gen Z) ในกรุงเทพฯ ที่หันมาเปลี่ยนนิสัยการเลือกซื้อสินค้าโดยพิจารณาถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากแบรนด์หรือสินค้าต่าง ๆ การให้ความสำคัญต่อแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน การจ้างงานที่เป็นธรรม และโครงการด้านสิ่งแวดล้อม1
เทรนด์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยยังสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ Second-hand Economy ซึ่งเป็นการส่งต่อสินค้ามือสองที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก โดยตลาดสินค้ามือสองสะท้อนถึงจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในปี 2565 ตลาดสินค้ามือสองมีมูลค่ามากกว่า 4.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.42 หมื่นล้านบาท) และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 25743 ซึ่งแฟชันมือสองเพียงอย่างเดียวคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 127% ขึ้นมาอยู่ที่ 218 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2569 ซึ่งสูงกว่ามูลค่าตลาดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายทั่วโลกถึงสามเท่า4 นอกจากเสื้อผ้าแล้ว ผู้บริโภคยังซื้อสินค้ามือสองประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หนังสือ อุปกรณ์กีฬา เครื่องมือ และเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ผลการศึกษาจากหลายแห่งยังระบุว่า ผู้บริโภคในกลุ่มเจนซีเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมนี้ โดย 80% กล่าวว่า ความเขินอายที่ทำให้คนไม่กล้าซื้อสินค้ามือสองตอนนี้ส่วนใหญ่หายไปแล้ว ผู้บริโภคกลุ่มนี้ตระหนักถึงผลกระทบจากการบริโภคที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และเชื่อว่าการซื้อสินค้าใช้แล้วมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและลดขยะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความยั่งยืนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมค้าปลีก พอ ๆ กับราคา คุณค่า สไตล์ และคุณภาพ ซึ่งเศรษฐกิจแบบ Second-hand Economy เริ่มประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ตลาดธุรกิจสินค้ามือสองเป็นปัจจัยที่ช่วยขยายขอบเขตทางธุรกิจให้เติบโตและสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การจัดโครงการ The Good Shop ยังเปิดโอกาสให้วีโร่ได้ส่งต่อข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและจริยธรรมในการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปให้คนวัยทำงานรุ่นใหม่ได้รับรู้โดยตรง นอกจากนี้ ยังช่วยให้วีโร่เข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสินค้ามือสองที่กำลังได้รับแรงความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย
นายไบรอัน กริฟฟิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของวีโร่ กล่าวว่า "โครงการ The Good Shop เป็นก้าวที่พิเศษที่ทำให้เราได้เข้าถึงและทำความเข้าใจพลวัตทางธุรกิจเกี่ยวกับความยั่งยืนและแฟชันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่สร้างสรรค์และสื่อสารออกไปให้ผู้คนได้รับรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจและกระตุ้นให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากการระดมไอเดีย การออกแบบ และการลงมือทำจนร้าน The Good Shop ออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ทีมครีเอทีฟของวีโร่ยังได้เสนอวิธีการที่สร้างสรรค์ในการส่งต่อคุณค่าและจุดประกายเกี่ยวกับ Slow Fashion เราเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้วีโร่เป็นที่ปรึกษาและผู้แก้ปัญหาให้กับลูกค้าที่เผชิญความท้าทายด้านความยั่งยืนได้ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากที่กำลังเผชิญความท้าทายด้านนี้อยู่"
โครงการ The Good Shop ยังตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของวีโร่ในการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในภูมิภาค ที่มีความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเมื่อปีที่แล้ว วีโร่เป็นหนึ่งในผู้ลงนามปฏิญญา Clean Creatives กลุ่มแรกๆ ที่ปฏิเสธการเซ็นสัญญาร่วมงานกับบริษัทในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และในเดือนพฤษภาคมปีนี้ วีโร่ยังได้เผยแพร่คู่มือเกี่ยวกับการสื่อสารด้านความยั่งยืนสำหรับองค์กร เพื่อเป็นแนวทางให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ทำความเข้าใจและวางแผนรับมือกับความซับซ้อนในการสื่อสารด้านความยั่งยืนได้อย่างโปร่งใสและน่าเชื่อถือ