เศรษฐกิจไทยเผชิญแรงต้านจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 6, 2023 10:45 —ThaiPR.net

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะถูกจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผสมชุดใหม่อาจทำให้ระดับหนี้ของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น ตามความเห็นของนักวิเคราะห์ของฟิทช์ เรทติ้งส์ในการสัมมนาประจำปีของประเทศไทยในวันนี้

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนาและได้กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทย จากนั้น ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ได้บรรยายในหัวข้อทิศทางของการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน ( Environmental, social, and governance: ESG) และ การลงทุน

ในส่วนของภาคธนาคารไทย ฟิทช์คาดว่าอันดับเครดิตของธนาคารไทยน่าจะยังคงมีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่งที่จะรับมือได้กับความเสี่ยง เนื่องจากผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น และสำหรับบางธนาคารอันดับเครดิตยังมีปัจจัยหนุนจากการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือผู้ถือหุ้น

คุณเจมส์ แมคคอร์แมค กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า ฟิทช์ประมาณการว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะถดถอยในระดับที่ไม่รุนแรงนักในปีนี้ และประเทศกลุ่มยุโรปจะเติบโตได้น้อยกว่าศักยภาพ เนื่องจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะยังต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าเป้าหมายไปจนถึงปี 2567 โดยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้นยังคงมีความยืดหยุ่นต่ออัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แต่อัตราการเติบโตของการจ้างงานเริ่มปรับตัวลดลง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตโดยรวมของเศรษกิจที่เริ่มอ่อนตัวลง ทั้งนี้ การเติบโตของประเทศจีนก็ยังชะลอตัวเช่นกัน แต่มาจากสาเหตุที่แตกต่างกันไป โดยการถดถอยอย่างรุนแรงในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นด้วย และยังทำให้รัฐบาลเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามาตรการกระตุ้นเหล่านี้จะเพียงพอและสามารถทำให้เศรษฐกิจของจีนในปี 2566 เติบโตได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ 5% ได้หรือไม่

สำหรับประเทศไทยนั้นก็ไม่สามารถต้านทานต่อสภาวะของเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยได้ โดยสะท้อนจากยอดส่งออกสินค้าที่หดตัวลงตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2565 และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโรคระบาด ฟิทช์เชื่อว่า แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่เกิดจากการจับขั้วหลายพรรคการเมืองจะทำให้สามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆได้ แต่ด้วยมุมมองความเห็นที่หลากหลายจากการเป็นรัฐบาลผสม จะทำให้กระบวนการพิจารณาอนุมัติงบประมาณสำหรับปี 2567 มีความซับซ้อนและอาจทำให้เกิดความล่าช้าได้ อีกทั้งการพิจารณางบประมาณนี้ยังถูกจำกัดจากนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่จะปรับเพิ่มการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตได้ในระยะสั้น แต่อาจสร้างแรงกดดันส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้น หากไม่สามารถรักษาระดับการเติบโตของ GDP ให้มีความต่อเนื่องได้

คุณโจนาธาน คอร์นิช กรรมการผู้จัดการและหัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตธนาคารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมธนาคารในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะปรับไปในทิศทางลบ โดยฟิทช์มองว่า โอกาสในการทำธุรกิจนั้นจะถดถอยลงเมื่อเทียบกับปี 2565 และอัตราส่วนการเงินที่สำคัญบางตัวจะปรับตัวด้อยลงในปี 2566 ไปจนถึงปี 2567 สำหรับธนาคารในกลุ่มตลาดอเมริกาเหนือ สหราชอาณาจักร เยอรมนี และออสเตรเลีย แต่ในอีกทางหนึ่ง แนวโน้มของกลุ่มธนาคารในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาดูน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ถึงแม้ว่าจะยังมีปัจจัยที่ท้าทายอยู่ในบางประเทศ โดยในตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งคือประเทศจีน ธนาคารที่ได้รับการจัดอันดับโดยฟิทช์นั้นยังมีความยืดหยุ่นในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยลบที่เพิ่มสูงขึ้นนี้อาจส่งผลให้ธนาคารขนาดเล็กที่ไม่ได้รับการจัดอันดับเครดิตน่าจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการรักษาระดับการเติบโตของปริมาณธุรกรรม อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยและความสามารถในการทำกำไร ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์และฐานการเงินก็ยังจะได้รับแรงกดดันเพิ่มเติม

ในส่วนของประเทศไทยนั้น แนวโน้มอันดับเครดิตสำหรับกลุ่มธนาคารไทยยังคงมีเสถียรภาพ ด้วยเหตุผลสนับสนุนที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ อันดับเครดิตสากลของธนาคารพาณิชย์เอกชนขนาดใหญ่ทั้งหมดนั้นอยู่ที่ระดับ 'BBB' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งพิจารณาจากอันดับความแข็งแกร่งทางด้านการเงินของธนาคาร (Viability Ratings) ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Ratings) ฟิทช์คาดว่า สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานโดยรวมจะยังเอื้ออำนวยให้ธนาคารสามารถสร้างกำไรและสะสมเงินกองทุนเพิ่มขึ้นได้ แม้ว่าจะยังมีความเสี่ยงด้านการตั้งสำรองเพิ่มเติมจากลูกหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ กล่าวได้ว่า ธนาคารขนาดใหญ่ของไทยจะยังคงหาโอกาสในการเติบโตทั้งในประเทศผ่านธุรกิจสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-banks) และธุรกิจในต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ