คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี กับการผลิตคนดนตรีที่มีความสามารถ มุ่งพัฒนาหลักสูตรเดิม พร้อมเปิดหลักสูตร เอกการจัดการและการพัฒนาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อตอบรับกับเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ ที่ผันตัวเป็นนักสร้างสรค์คอนเทนต์ออนไลน์ และตอบรับความต้องการของตลาด เพื่อส่งมอบคนคุณภาพสู่อุตสาหกรรมของไทย
ผศ.วุฒิชัย เลิศสถากิจ คณบดีคณะดุริยางคศาสตร์ กล่าวถึงการเดินทางของคณะตลอด 25 ปีว่า จากเดิมที่คณะดุริยางคศาสตร์มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถทั้งทางดนตรีและการแสดงดนตรี เพื่อประกอบอาชีพที่พวกเขาใฝ่ฝัน ในขณะเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไปความต้องการของผู้เรียนและตลาดอุตสาหกรรมดนตรีและบันเทิงได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่และบุคลากรในอุตสาหกรรมมีความต้องการทักษะที่หลากหลายมากขึ้น คณะฯ จึงได้ยกเครื่อง พัฒนา และส่งเสริมทักษะและคุณลักษณะของบัณฑิตให้สอดรับกับความต้องการของอุตสาหกรรมและยังคงอัตลักษณ์ความเป็นศิลปินของคณะฯ และมหาวิทยาลัยไปพร้อมกัน
"การศึกษาดนตรีในอดีตกับความต้องการในอุตสาหกรรมดนตรีตอนนี้ไม่สอดรับกันเหมือนในอดีต คณะฯ จึงได้หารือและพูดคุยกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับศึกษาเจาะลึกถึงความเปลี่ยนไปของตลาดการศึกษา อุตสาหกรรมดนตรี บันเทิงและการสื่อสารดิจิทัล รวมไปถึงการศึกษาความต้องการของเด็กรุ่นใหม่ รวมไปถึงบริบททางสังคมในปัจจุบัน ทำให้คณะฯ ได้กลับมาพิจารณาหลักสูตรที่มีให้ทุกวันนี้ให้เพียงพอและตรงกับความต้องการของคนเจเนอเรชันใหม่แล้วหรือไม่ จำเป็นต้องลด เพิ่ม หรือปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่ เราต้องมองไปข้างหน้า เพราะมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตเพื่อไปทำงานในอนาคต ไม่ใช่ตอบสนองเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น" ผศ. วุฒิชัย กล่าว
ผศ. วุฒิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อปี พ.ศ. 2564 คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เปิดสาขาการจัดการและการพัฒนาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์ หรือ IDM ซึ่งเป็นที่แรกของไทยที่จัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับอินฟลูเอนเซอร์แบบเต็มรูปแบบ โดยเด็กรุ่นใหม่มีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ และเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) กันอยู่แล้ว สาขา IDM จึงเป็นเหมือนการบ่มเพาะและพัฒนาเยาวชนในตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมธุรกิจดนตรีและบันเทิง ที่มีอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมจริงมาเป็น 'เทรนเนอร์' คอยโค้ชชิ่ง แนะนำพัฒนา และดึงประสิทธิภาพของนักศึกษาให้ออกมาดีที่สุดที่สุด เพื่อให้เด็กทุกคนพร้อมออกไปเป็น 'ครีเอเตอร์' ที่สมบูรณ์แบบ มีองค์ความรู้และทักษะที่พร้อม มีคุณธรรม และมีความเป็นพลเมืองโลกในการดำเนินชีวิต
"เราอยากสร้างหลักสูตรที่ป๊อบปูล่า ที่ผู้เรียนอยากเรียน และอุตสาหกรรมต้องการจริง ๆ แต่ที่สำคัญเราจะไม่ทิ้งความเป็น "เด็กดุ (ริยางคศาสตร์) ศิลปากร" เด็ดขาด ความเป็นกันเองของอาจารย์และลูกศิษย์ รุ่นพี่และรุ่นน้อง ความใกล้ชิดเหล่านี้ ทำให้นักศึกษาทุกคนได้เป็นตัวของตัวเองอย่างอิสระ ได้โลดแล่นได้อย่างเต็มที่ในแบบที่พวกเขาอยากเป็น แต่ก็ยังคงอยู่ในแนวทางแบบของความเป็นโปรเฟสชั่นนัล เมื่อจบไป พวกเขาจะอยู่รอดในการทำงานจริงได้ และยังจะสนุกไปกับมันอีกด้วย" ผศ. วุฒิชัย กล่าว
นอกจากนี้ เนื่องในโอกาสการเฉลิมฉลอง 25 ปีของคณะดุริยางคศาสตร์ และ 80 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะดุริยางคศาสตร์จึงสร้างสรรค์ละครเวทีมิวสิคัลสุดพิเศษ "Returning Feroci รีบกลับเถอะครับจารย์" นำแสดงโดย เฟิด คาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์ หรือ เฟิด Slot Machine รับบทอาจารย์ศิลป์ พีระศรี, ป้อบเป้อ พิณญาดา จึงกาญจนา หรือ ป้อบเป้อ BNK48 รับบท ทอฝัน นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร และ วริศ คงสุวรรณ ศิษย์เก่าคณะดุริยางคศาสตร์ ทายาทของโอม ชาตรีคงสุวรรณ ศิลปินชื่อดังของวงการ ร่วมด้วยทีมนักแสดงและทีมงานอีกมากมาย ซึ่งได้รับความร่วมมือร่วมใจจากศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า โดย Returning Feroci รีบกลับเถอะครับจารย์ จะจัดแสดงวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ที่โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน
ทั้งนี้ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2541 "โครงการจัดตั้งคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัย ศิลปากร" ปัจจุบันมีหลักสูตรปริญาตรี 2 หลักสูตร ได้แก่ ดุริยางคศาสตร์บัณฑิต (ดศ.บ.) มีทั้งหมด 6 วิชาเอก ได้แก่ เอกดนตรีคลาสสิก เอกดนตรีและสื่อสร้างสรรค์ เอกดนตรีแจ๊ส เอกดนตรีเชิงพาณิชย์ เอกละครเพลง และเอกผู้ประกอบการดนตรีศึกษา หลักสูตรสิลปาศาสตร์บัณฑิต (ศป.บ.) มี 2 วิชาเอก ได้แก่ เอกธุรกิจดนตรีและบันเทิง และเอกการจัดการและพัฒนาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์ นอกจากนี้ คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังมีหลักสูตร ดุริยางคศาสตรมหาบัณฑิต (ดศ.ม.) และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาสังคีตวิจัยและพัฒนาให้กับผู้ที่สนใจศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นอีกด้วย
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นๆ และข่าวประชาสัมพันธ์ของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ที่เว็บไซต์ https://music.su.ac.th เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/silpakornmusic หรือติดต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 424 5623