สอวช. ปลื้ม แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง "STEMPlus" คว้ารางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่น ประจำปี 2566 ประเภทบริการตอบโจทย์ตรงใจ ตอบเป้าหมายการพัฒนากำลังคนสู่อนาคต
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต พร้อมตัวแทนพนักงาน สอวช. เข้ารับมอบรางวัลเลิศรัฐ ประเภทบริการตอบโจทย์ตรงใจ ระดับดีเด่น ประจำปี 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) โดยโครงการที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้คือ "แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิตและบริการ" หรือ แพลตฟอร์ม STEMPlus
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของ สอวช. ที่ กพร. ได้มอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ให้กับเรา ทีมงานทุกคนทุ่มเทและตั้งใจที่จะสร้างแพลตฟอร์ม STEMPlus ขึ้นมา ให้เป็นแพลตฟอร์มให้บริการขนาดใหญ่รองรับความต้องการด้านกำลังคนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยรวบรวมหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนากำลังคน ตอบโจทย์ตามความต้องการของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เน้นการส่งเสริมการปรับทักษะ ยกระดับทักษะ (Reskill Upskill) และจับคู่กำลังคนไปสู่การทำงานและการประกอบอาชีพ ตอบโจทย์ 3 กลุ่ม สำคัญ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ประกอบการ สามารถนำค่าใช้จ่ายการจ้างงานบุคลากรด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม (STEM) ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ผ่านการรับรองไปขอลดหย่อนภาษีได้ 150% ซึ่งปัจจุบันมีการขอรับรองการจ้างงานแล้ว 4,446 ตำแหน่งงาน จาก 105 บริษัท
นอกจากนี้สถานประกอบการที่ส่งบุคลากรเข้ารับฝึกอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจาก อว. สามารถขอลดหย่อนภาษีได้ 250% ซึ่ง STEMPlus ได้รวบรวมรายชื่อหลักสูตร จำนวน 691 หลักสูตร จาก 70 หน่วยฝึกอบรม ซึ่งมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมแล้ว 55,130 คน โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาคนให้ได้ 100,000 คน ภายในปี 2567 กลุ่มที่ 2 นักศึกษาและบุคคลทั่วไป จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มโอกาสการได้ทำงานที่ต้องการและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น โดยปัจจุบันยังได้มีนวัตกรรมการศึกษาในรูปแบบการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox เกิดขึ้นจำนวน 11 โครงการ ซึ่งสามารถผลิตกำลังคนที่สอดคล้องตามความต้องการได้อย่างน้อย 20,000 คนภายในปี 2575 และในกลุ่มที่ 3 ตอบโจทย์หน่วยฝึกอบรม ให้ได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่ตอบโจทย์ตามความต้องการในหลากหลายสถานการณ์