ทิศทางของการจัดการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้เพียงเพื่อให้ผู้เรียนสามารถสำเร็จการศึกษาได้เร็วที่สุด จะได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือเข้าสู่โลกแห่งการทำงานให้เร็วที่สุดเท่านั้น แต่เป็นไปเพื่อ "การเรียนรู้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด"
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรเนติ สุขสมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ด้วยระบบการศึกษาแบบยืดหยุ่น (MUFE - Mahidol University Flexible Education) ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้วางไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาเพื่อ "การเรียน
รู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด" มาโดยตลอด
จากที่ได้เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปลงทะเบียนเรียนรายวิชาออนไลน์ผ่านระบบ Mahidol University Extension (MUx) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถเทียบโอนหน่วยกิตเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรปกติ เพื่อสนองยุทธศาสตร์การศึกษาของชาติ พ.ศ. 2560 - 2579 ที่มุ่งให้คนไทยได้รับการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21
ซึ่งหลักการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด (Life-long Learning) ไม่เหมือนกับการสอบเทียบในอดีตที่มุ่งเป้าหมายไปที่การได้รับวุฒิการศึกษา แต่จะมุ่งเน้นไปที่ "การฝึกทักษะ" เพื่อให้เกิดความยั่งยืน จากการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง รวมทั้งนำไปทบทวน หรือเพิ่มเติมการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งสำคัญต่อนักศึกษาและทุกคนในโลกยุคปัจจุบัน และอนาคต
จุดเด่นของระบบ MUFE ในปัจจุบันอยู่ที่การให้ผู้เรียนสามารถออกแบบการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง หาก "ฉลาดเลือก" วางแผนให้ดีโดยเรียนเก็บหน่วยกิตรายวิชาที่สนใจจากระบบออนไลน์ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยมหิดลในระบบปกติซึ่งครบพร้อมทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการ และการฝึกทักษะทางสังคมกับเพื่อนร่วมรุ่น และผู้ที่อยู่รายรอบ อย่างน้อยภายในระยะเวลา 4 ปี
ผู้เรียนจะได้สำเร็จการศึกษา โดยได้รับทั้งปริญญาตรี และปริญญาโท ซึ่งเป็นระดับการศึกษาที่สูงขึ้น พร้อมเปิดประตูสู่"โลกของการทำวิจัย" ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ภายใต้เทคโนโลยีที่สามารถต่อยอดสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ เป็นเหมือนรางวัลแด่ "ผู้ฉลาดเรียนรู้"
นอกจากนี้ หากมุ่งสู่ทางเส้นหลักของวิชาชีพแพทย์ด้วยหลักสูตรปกติ ระบบ MUFE ยังเปิดโอกาสให้เลือกเรียนเพิ่มเติมได้ตามความสนใจในสาขาการจัดการ วิศวกรรมศาสตร์ฯลฯ ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้ทั้งปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต พร้อมปริญญาโทในสาขาที่เลือกเรียน
และเมื่อได้เข้ามาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลแล้วอย่างเต็มตัว แม้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะได้กำหนดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีของทุกสถาบันจะต้องศึกษา "รายวิชาศึกษาทั่วไป" ไม่ต่ำกว่า 24 หน่วยกิต
แต่ก็ยังมี "โลกนอกห้องเรียน" ที่กว้างใหญ่รอคอยให้ค้นหาจากแพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์ที่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลเลือกสรรไว้ให้พร้อมสรรพรองรับการเตรียมพร้อมนักศึกษาสู่การเป็น "พลเมืองโลก" (Global Citizen) ซึ่งเปิดโอกาสให้ศึกษาได้จากบริบทที่ไม่จำกัดจากทั่วโลก จึงเชื่อมั่นได้ถึงทุก "เมล็ดพันธุ์คุณภาพ" จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อมเติบโตงอกงามได้โดยกลมกลืนไปกับสรรพสิ่ง
มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อการเรียนรู้แบบบูรณาการตลอดชีวิต (Life-integrated Learning) ภายใต้การวางแผนอย่างเป็นระบบ ด้วยการจัดวาง "สิ่งแวดล้อมทางการศึกษา" (Education Ecosytem) ที่เชื่อมั่นว่าจะทำให้นักศึกษาได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงด้วยระบบการศึกษาออนไลน์ที่ได้มาตรฐานคุณภาพ จากคณาจารย์ที่มีศักยภาพสูง พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ และเรียนรู้ไปด้วยกันกับผู้เรียนที่รอวันเติบโตต่อไปอย่างสมบูรณ์
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210