นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า มันเทศเป็นพืชอาหารและพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของโลก ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแป้ง อีกทั้งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลโดยผลผลิตมันเทศ 1 ตันสามารถผลิตเอทานอลได้ 160-170 ลิตร อย่างไรก็ตามปัจจุบันประเทศไทยผลิตมันเทศในสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตรายอื่นโดยการปลูกมันเทศของไทยส่วนใหญ่นิยมปลูกเป็นพืชรองเสริมกับพืชหลักเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร เป็นพืชอายุสั้นให้ผลตอบแทนเร็ว ในบางช่วงถ้าราคาสูงอาจให้ผลตอบแทนสูงกว่าพืชหลัก
แหล่งปลูกมันเทศที่สำคัญของไทยพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออก เกษตรกรนิยมปลูกหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งพันธุ์เหล่านี้มีคุณภาพการบริโภคหรือประกอบอาหารรสชาติดีตรงกับความต้องการของผู้บริโภค แต่ให้ผลผลิตต่ำ ดังนั้น เพื่อให้ได้พันธุ์มันเทศสำหรับบริโภคสดพันธุ์ใหม่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทำการปรับปรุงพันธุ์มันเทศ โดยการผสมข้ามมันเทศพันธุ์ดีจากแปลงรวบรวมพันธุ์ และคัดเลือกมันเทศเพื่อการบริโภคสด ที่ให้ผลผลิตสูง หัวมีคุณภาพดีตรงกับความต้องการของตลาด พร้อมกับปรับตัวได้ดีกับสภาพพื้นที่สำหรับแนะนำส่งเสริมและกระจายพันธุ์มันเทศพันธุ์ดีให้เกษตรกรปลูกเป็นการค้า โดยเริ่มดำเนินการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ในปี 2554 และเสนอพิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำในปี 2566 ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตรวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ใช้ชื่อพันธุ์มันเทศพันธุ์ใหม่ว่า "กวก. พิจิตร 3"
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า มันเทศพันธุ์ กวก. พิจิตร 3 ได้จากการผสมเปิดของมันเทศพันธุ์ พจ.166-5 ในปี 2554 ทำการผสมพันธุ์มันเทศ ใช้พันธุ์มันเทศเนื้อสีขาวสำหรับเป็นพ่อแม่พันธุ์ 9 พันธุ์ ปี 2556 ทำการเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้น ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ปี 2557-2558 เปรียบเทียบพันธุ์ในศูนย์/สถานี มีสายต้นคัดเลือก 8 สายต้น ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี และศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ปี 2559-2560 ปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกรจังหวัดพิจิตร จำนวน 6 แปลง จนได้มันเทศพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติตามวัตถุประสงค์การปรับปรุงพันธุ์
มันเทศพันธุ์ กวก. พิจิตร 3 มีลักษณะเด่น ให้ผลผลิตเฉลี่ย 3,282 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าพันธุ์ท้องถิ่น (มันกระต่าย) ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,676 กิโลกรัมต่อไร่ หรือมากกว่าร้อยละ 22.6 มีปริมาณขนาดหัวที่ตลาดต้องการ โดยมันเทศสำหรับตลาดต้องการ ต้องมีขนาดกลาง (M) ถึงขนาดใหญ่ (L) (เส้นผ่านศูนย์กลางหัวมากกว่า 2.50 เซนติเมตร) ลงหัวดกสม่ำเสมอ เนื้ออ่อนนุ่ม รสชาติหวานปานกลาง
มันเทศพันธุ์กวก. พิจิตร 3 หากปลูกในช่วงปลายฤดูฝนจะเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด (กันยายน-พฤศจิกายน) มันเทศจะให้ผลผลิต และคุณภาพการบริโภคทั้งลักษณะเนื้อ และรสชาติดีกว่าฤดูปลูกอื่น และเนื่องจากมันเทศพันธุ์ กวก. พิจิตร 3 มีลักษณะหัวยาว ลงหัวลึก ดังนั้นการเตรียมแปลงปลูกควรยกร่องสูงไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ปัจจุบันมีแปลงแม่พันธุ์พร้อมที่จะขยายยอดพันธุ์ต่อได้ตลอด โดยในปี 2566 สามารถผลิตยอดพันธุ์ 30,000 ยอด ปลูกได้จำนวน 6 ไร่ เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อขอรับพันธุ์ได้ด้วยตนเองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กำหนดรับพันธุ์สัปดาห์ละ 1 รอบ (วันพฤหัสบดี) โดยติดต่อลงรายชื่อเพื่อขอรับพันธุ์ได้ที่ น.ส.สุพัตรา ผาคำ โทรศัพท์ 089-0733882 ในวันและเวลาราชการ