กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--กทม.
กทม. เฝ้าระวังสภาพอากาศในพื้นที่ ซึ่งฝนปีนี้มากกว่าปริมาณเฉลี่ยในรอบ 30 ปี และมากกว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกัน สัปดาห์หน้ายังตกต่อเนื่อง 30-60% เตรียมหน่วย BEST และศูนย์ปฏิบัติงานเร่งด่วนเพื่อประชาชนเตรียมการป้องกันน้ำท่วมเต็มที่ พร้อมนำแนวพระราชดำริบริหารจัดการน้ำ
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์อากาศในช่วงนี้ ว่า จากรายงานพยากรณ์อากาศในช่วงนี้ ความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน เกิดฝนหนักถึงหนักมาก ลมกรรโชกแรง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีฝนตกเฉลี่ย 70% ของพื้นที่ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาฝนตกทุกวัน และในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะมีฝนตกเฉลี่ย 30-60% ของพื้นที่ โดยในปีนี้ฝนตกเฉลี่ยมากกว่าปีที่แล้ว เฉพาะในเดือน เม.ย. 51 มีปริมาณฝนตก 217 มิลลิเมตร ซึ่งข้อมูลเฉลี่ย 30 ปี มีปริมาณ 64 มิลลิเมตร และปีที่แล้วมีปริมาณ 168 มิลลิเมตร จะเห็นว่าในปีนี้ฝนมาตั้งแต่ต้นปี ฝนรวมตั้งแต่ต้นปี - เม.ย.51 มีปริมาณรวม 336 มิลลิเมตร มากกว่าค่าเฉลี่ยของ 30 ปี 167% และมากกว่าปีที่แล้ว 180% จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนบางพื้นที่ ทั้งปัญหาน้ำท่วมขัง ต้นไม้ ป้ายโฆษณาและเสาไฟฟ้าล้ม
สำหรับการเตรียมการป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานครกำหนดเปิดหน่วย BEST ในวันที่ 30 เม.ย. 51 เพื่อเปิดแผนการเตรียมความพร้อมหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) กรุงเทพมหานคร และได้มอบให้เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะ ประธานกรรมการศูนย์อำนวยการปฏิบัติงานเร่งด่วนเพื่อประชาชน ไปตรวจศูนย์รับแจ้งที่สำนักการระบายน้ำ เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วน ซึ่งสำนักการระบายน้ำต้องรายงานสถานการณ์น้ำฝน การพยากรณ์อากาศล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อม สั่งการ และบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และวันที่ 1 พ.ค. 51 จะมีการประชุมสำนักการระบายน้ำเพื่อวางแผนการจัด การน้ำท่วมปี 51 จากนั้นในวันเสาร์ (3 เม.ย. 51) นี้ จะลงพื้นที่ตรวจแผนป้องกันน้ำท่วม ณ พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานแนวทางการบริหารจัดการน้ำด้วย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้มอบหมายสำนักการระบายน้ำประสานข้อมูลแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริแนวทางการบริหารจัดการน้ำ พร้อมประสานกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในประเด็นโครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-มหาชัย ที่ให้ขยายขอบเขตให้มากขึ้น การเพิ่มพื้นที่การระบายน้ำด้านตะวันออกเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การถ่ายเทและหมุนเวียนแก้ปัญหาน้ำเสีย การจัดการให้น้ำผ่านเมืองได้สะดวกเพื่อป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น