เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พลเอกกนก ภู่ม่วง นำคณะผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการ เรื่อง "การสร้างฝายกั้นน้ำแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดยกระบวนการวิศวกรสังคมและการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านซำหวาย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี" โดยมี ผศ.สพ.ญ.ดร.สุรีรัตน์ บุตรพรหม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา พร้อมด้วย ผศ.ดร.ปริญญา มูลสิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ผศ.สุระเจตน์ อ่อนฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ผศ.รัตน์ชฎาพร ศรีสุระ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และคณะนักวิจัย พร้อมด้วย คณะผู้นำชุมชนบ้านซำหวาย อำเภอน้ำยืน ให้การต้อนรับ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
พลเอกกนก ภู่ม่วง ประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ในการบ่มเพาะวิศวกรสังคมด้วยกระบวนการวิจัยและนวัตกรรม โดยโครงการวิจัย เรื่อง "การสร้างฝายกั้นน้ำแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดยกระบวนการวิศวกรสังคมและการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านซำหวาย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี" เป็นการดำเนินการในกระบวนการบ่มเพาะวิศวกรสังคมด้วยวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โครงการดังกล่าว ได้เข้าไปหนุนเสริมการสนับสนุนนักศึกษาที่ผ่านกระบวนการวิศวกรสังคม นำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยและนวัตกรรม ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ส่งเสริมให้นักศึกษาวิศวกรสังคมสามารถดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ และได้นำหลักแนวคิดวิศวกรสังคมมาสู่การสร้างโจทย์และการปฏิบัติงานร่วมกับท้องถิ่นได้อย่างมีส่วนร่วม
ผศ.รัตน์ชฎาพร ศรีสุระ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า โครงการการสร้างฝายกั้นน้ำแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดยกระบวนการวิศวกรสังคมและการมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านซำหวาย อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ผ่านกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2565 เพื่อพัฒนาทักษะนักศึกษาวิศวกรสังคม ด้านการคิด การสื่อสาร ด้านการประสานงาน ด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่น ด้านการสร้างนวัตกรรม และด้านการปฏิบัติงาน โดยใช้เครื่องมือสร้างบัณฑิตให้เป็นนักคิด นักปฏิบัติ ผ่านเครื่องมือวิศวกรสังคมทั้ง 5 เครื่องมือ ได้แก่ ฟ้าประทาน นาฬิกาชีวิต Timeline กระบวนการ Timeline พัฒนาการ และ M.I.C. Model ด้วยการ เรียน รู้เข้าใจ ใช้เป็น เห็นเหตุผล และบ่มเพาะนักศึกษาให้มีทักษะ 4 ประการ ด้านวิศวกรสังคม ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาฝึกนำเครื่องมือของวิศวกรสังคมไปใช้บูรณาการด้านการพัฒนาชุมชนอย่างเหมาะสม และพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยกระบวนการพัฒนาทักษะวิศวกรสังคม (Social Engineer Skills) เป็นการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
พื้นที่บ้านซำหวาย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีป่าชุมชน 2 แหล่ง รวมประมาณ 2,000 ไร่ ที่ผ่านมาชุมชนได้ทำโครงการฝายชะลอน้ำเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าและเป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่า แบบอาศัยความรู้แบบชาวบ้านทำให้ฝายไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เท่าที่ควรต้องทำใหม่ทุกปี จึงมีการส่งเสริมให้นักศึกษาที่ได้รับการอบรมวิศวกรสังคม ใช้เครื่องมือวิศวกรสังคมในการวิเคราะห์ เชิงเหตุ-ผล ทำให้เห็นปัญหาของชุมชนและความที่ท้าทายในการทำงานกับพื้นที่ นักศึกษาจึงนำทักษะด้านศาสตร์สาขาที่เรียนมาบูรณาการการทำงานร่วมกัน ใช้ทักษะด้านวิศวกรสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างฝายกันนั้นเป็นการน้อมนำศาสตร์พระราชามาบูรณาการร่วมกับความรู้และทักษะอันของนักศึกษาวิศวกรสังคม อีกทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม การเรียนรู้จากทักษะวิศวกรสังคมจนกลายเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ นำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในด้านทักษะการใช้ชีวิต การทำงาน การอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคม มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างศักยภาพและพัฒนาองค์ความรู้ผ่านการศึกษาชุมชนต้นแบบวิศวกรสังคมได้