พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ สร้างทักษะชีวิตเด็กปฐมวัยชายแดนใต้

ข่าวทั่วไป Monday September 18, 2023 09:29 —ThaiPR.net

พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ สร้างทักษะชีวิตเด็กปฐมวัยชายแดนใต้

กลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์  ร่วมกับชมรมครูผู้ดูแลเด็ก จ.นราธิวาส  จัดสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ  "นิเวศ 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) กับการพัฒนาเด็กปฐมวัย"  ภายใต้ โครงการมหัศจรรย์นิเวศ 3 ดีเพื่อเด็กปฐมวัย  สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)   วันเสาร์ที่ 16 กันยายน 2566 ณ  โรงแรมตันหยง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส  เป็นการสัมมนาขยายแนวคิด หลังจากเครือข่ายได้บูรณาการ การพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) จัดทำในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และจัดกระบวนการเรียนรู้กับเด็กปฐมวัย  

โดย นางสาวสายใจ คงทน  หัวหน้าโครงการ ฯ ชวนคุยและเติมความรู้ บทบาทของการเป็นครูปฐมวัยต่อการพัฒนาเด็ก ในยุคที่มีความไม่แน่นอน มีความผันผวนและเปราะบาง ( BANI World)  จึงต้องส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้อย่างบูรณาการส่งเสริมให้เด็กมีความเข้ามแข็งจากภายใน ซึ่งเป็นทักษะ ที่ต้องฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บูรณาร่วมกับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้กับเด็กในชั้นเรียน  โดยเฉพาะทักษะสำคัญ พลังชีวิต (resilience) คือความสามารถในการต่อสู้ปัญหา เพื่อกลับคืนสู่ปกติ  เป็นสิ่งที่เรียนรู้และสร้างได้ ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น พ่อแม่และครูมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างให้เกิดตั้งแต่เด็ก เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข เมื่อเกิดปัญหาในชีวิต

นางกิ่งกาญจน์ รักษาสัตย์  นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กลุ่มงานส่งเสริมการศึกษาและเสริมสร้างโอกาสทางสังคม กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวถึงการ พัฒนา มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์กับพัฒนาเด็กปฐมวัยชายแดนใต้  นั้น ทำให้เด็กได้ใช้ภาษาไทยกับภาษาถิ่นไปควบคู้ไปด้วยกัน ภายใต้สังคม พหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย การ บูรณาการเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมของชุมชนในการสอนเด็กตั้งแต่ปฐมวัย จะเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจให้กับเด็กและครอบครัว  โดย ศอบต.มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับครู โดยใช้กระบวนการสื่อสร้างสรรค์ที่เป็นแนวคิดของ สสส. มาประยุกต์ ใช้และปัจจุบันที่ทำการของศอบต.มีธนาคารสื่อสร้างสรรค์ที่เป็นงานของครูที่เข้าร่วมโครงการ เปิดให้เด็ก ๆ เข้ามาเรียนรู้ บทบาทของศอบต .กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้  

นางสาวดรุณี  หมัดหมัน  ผู้อำนวยการกองการศึกษาฯ อบต.บ้านควน จ.สตูล และครู ลาตียา มะหมาด  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกาด๊ะ จ.สตูล ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การ การบูรณาการ 3 ดี เข้าสู่การจัดประสบการณ์ในห้องเรียน โดย มีการจัดกิจกรรมตามแผนการจัดประสบการณ์และการจัดสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในห้องเรียนให้กับเด็กปฐมวัย บูรณาการแนวคิดเรื่อง สื่อ กิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ (๓ ดี สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) โดยให้ได้รับประสบการณ์ตรงจากการเล่น การลงมือปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี และเพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้ครบทุกด้าน  นอกจากนี้ยังมีแผนการจัดการเรียนรู้ห้องเรียนพ่อ แม่ การพัฒนาชุดความรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็ก สำหรับ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรม ภายใต้แนวคิดการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก  ซึ่งประกอบด้วย แนวคิดเรื่อง สื่อ กิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์

นางซุพญาณี  มูซอ  และนางสุกัญญา เย็นประสิทธิ์   ครูจากศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา มูลนิธิธรรมานุสรณ์ เขตมีนบุรี กทม. นำเสนอ ต้นแบบศูนย์ "มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์บูรณาการสามดี สู่มหัศจรรย์การเล่น"    โดย เน้นไปที่การจัดห้องเรียนให้เป็นห้องเล่น  โดยมีแนวคิดว่าห้องเรียนสนุกด้วย สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี มีการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ ทั้งภายในห้องเรียน และนอกห้องเรียน ด้วยตระหนักว่าเด็กต้องมีพื้นที่เรียนรู้กลางแจ้งยนอกห้องเรียน และต้องได้มีพื้นที่ความสุข ที่สร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเอง  โดย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะต้องเป็นอีกบ้านหนึ่งที่น่าสนุก ส่งเสริมความสุขสำหรับเด็กปฐมวัย  และร่วมแบ่งปันเคล็ดลับของการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ว่า ต้องปลุกพลังของชุมชนให้เข้ามีส่วนร่วม และใช้กลไกการเยี่ยมบ้านเพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ดี จัดมุมสำหรับเด็ก มุมการเล่น ในครอบครัว

กล่าวโดยสรุป การพัฒนาทักษะสำหรับเด็กปฐมวัยที่สำคัญ คือการส่งเสริมให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงด้วยตัวเอง ได้เรียนรู้ผ่านการเล่น ผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และบทบาทของครู ควรได้ส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสของการสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองโดยครูเป็นผู้อำนวย  เน้นการชวนคุย ชวนคิด  เรียนรู้ร่วมกับเด็ก สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กได้แสดงออกทั้งความคิดและการกระทำอย่างเมหาะสมกับวัย โดยเชื่อมั่นว่าทุกวันคือวันมหัศจรรย์ของเด็กๆ


แท็ก APP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ