เล็บของเรา เป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกาย ที่หลายคนมักไม่ได้สนใจ แต่เล็บก็มีความสำคัญนะครับ เพราะเล็บสามารถบ่งบอกสุขภาพของเราได้เหมือนกัน...
เล็บสุขภาพดี จะมีลักษณะเป็นสีชมพูจางๆมีพื้นผิวของเล็บที่เรียบ ไม่มีขรุขระ ผิวหนังรอบๆเล็บไม่เปื่อยร่น และที่สำคัญคือ เล็บไม่หนาและไม่บางมากเกินไป
เล็บผิดปกติ คือเล็บที่มีลักษณะแปลกไปจากที่กล่าวมา โดยอาจมีลักษณะบาง มีฝ้าหรือผิวโดยรอบไม่เรียบ ขรุขระ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เกิดการติดเชื้อ เกิดการระคายเคืองจากสารเคมี หรือเกิดจากโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อเล็บ ซึ่งมีลักษณะผิดปกติหลากหลายแบบ
เล็บของเราผิดปกติหรือไม่ แล้วสิ่งผิดปกติเหล่านั้นบอกอะไร? ในร่างกายของเราบ้าง มาดูกัน!
- เล็บหนามากเกินไป การมีเล็บที่หนาผิดปกติอาจเสี่ยงต่อการเป็น โรคเชื้อรา ยิ่งไปกว่านั้นอาจพบอาการร่วมอื่นๆได้ด้วย เช่น เล็บอาจมีสีเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาว ผิวเล็บและส่วนปลายเล็บอาจมีความขรุขระ ที่สำคัญคืออาจเสี่ยงต่อการเป็น โรคสะเก็ดเงิน เนื่องจากโรคนี้อาจทำให้เล็บหนาหลายเล็บ ตรงข้ามกับโรคเชื้อราที่เป็นเพียงบางเล็บเท่านั้น
- เล็บบางกว่าปกติ อาจเกิดจาก โรคโลหิตจาง ที่ขาดธาตุเหล็ก โดยเล็บจะมีลักษณะบางและแอ่นคล้ายช้อน รวมถึงในผู้สูงอายุก็อาจมีเล็บที่บางและเปราะแตกง่ายตรงบริเวณปลายเล็บได้
- เล็บมีพื้นผิวขรุขระ เป็นอาการที่พบได้ค่อนข้างบ่อยเลยก็ว่าได้ครับ โดยบริเวณผิวของเล็บจะเป็นหลุมเล็กๆแล้วถ้าเป็นหลายเล็บก็อาจบ่งบอกถึง โรคสะเก็ดเงินหรือ โรคภูมิแพ้ ได้ อาการดังกล่าวอาจพบได้ในเด็กบางรายโดยที่ไม่มีสาเหตุ และในบางกรณีอาจมาจากอาการเจ็บป่วยอาจพบเล็บเป็นร่องลึกตามแนวขวางจากการที่เล็บมีการสร้างเล็บผิดปกติขณะป่วยได้
- ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง พบได้ในผู้ที่สัมผัสกับน้ำบ่อยๆ บริเวณผิวหนังรอบเล็บอาจมีการเปื่อยยุ่ย ทำให้เกิดการระคายเคืองจากสารเคมีได้ง่าย เช่น สารเคมีจากน้ำยาล้างจาน สารเคมีจากน้ำยาทำความสะอาดบ้าน ซึ่งบางครั้งก็อาจเกิดการติดเชื้อราตามมาได้และในผู้ป่วยบางคนที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังที่อ่อนแอนี้อาจส่งผลให้ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง รวมถึงมีหนองร่วมด้วย
- เล็บเปลี่ยนสี อาจมีสาเหตุมาจากโรคทางกายที่มีผลกับสีของเล็บ เช่น เล็บมีสีดำ อาจเป็นเพราะ มะเร็งผิวหนัง เชื้อรา การกระแทก ไฝ เล็บเป็นสีดำขึ้นมาเอง แต่ถ้าหากเป็นใน กรณีของมะเร็งผิวหนัง ก็จะมีข้อสังเกตคือ ลักษณะเล็บที่ดำจะมีลักษณะเป็นปื้นสีดำและสีไม่สม่ำเสมอ เป็นแค่เล็บเดียว มีประวัติเป็นมาไม่นาน อาจมีผิวหนังที่โคนเล็บเป็นสีดำร่วมด้วยเล็บมีสีขาวครึ่งเล็บพบได้ในผู้ป่วย โรคไตวายเรื้อรัง เป็นส่วนใหญ่ เล็บมีสีขาวสองในสามของเล็บ ส่วนมากจะพบได้ในผู้ป่วยที่เป็น โรคเบาหวาน,โรคตับแข็ง,โรคหัวใจวาย เล็บที่มีสีขาวเป็นแถบขวาง อาจเกิดจาก โรคโปรตีนในร่างกายต่ำ เมื่อใช้มือกดไปที่เล็บ สีขาวที่เห็นก็จะจางลง
- ปลายเล็บร่น โดยปกติแล้วผิวหนังส่วนปลายจะติดกับเล็บ แต่ถ้าหาก มีโรคบางอย่างเช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคไทรอยด์ โรคเชื้อรา โรคผดผื่นผิวหนังอักเสบ รวมถึงผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิด ก็อาจส่งผลให้ขอบของผิวหนังที่ติดกับเล็บมีการร่นลงได้
ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของเล็บแบบใดก็ถือว่ามีความอันตรายไม่แพ้กันนะครับ สำหรับ วิธีการรักษาอาการเล็บผิดปกตินั้นแพทย์จะดำเนินการรักษาตามสาเหตุที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น หากผู้ป่วยเล็บเป็นเชื้อราแพทย์อาจขูดขุยจากบริเวณเล็บที่หนาไปตรวจหาเชื้อรา จากนั้นก็จะทำการเพาะเชื้อราแยกชนิดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค หากในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าจะเป็น มะเร็งผิวหนัง อาจต้องทำการตัดชิ้นเนื้อที่ใต้เล็บ เพื่อตรวจลักษณะทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค ถ้าหากเป็น เล็บบอกถึงโรคทางกาย ก็อาจต้องมีการตรวจเลือด โดยเป็นการตรวจหาระดับธาตุเหล็ก โรคไทรอยด์ โรคไต โรคตับ ทั้งหมดนี้ก็จะนำไปสู่กระบวนการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
แม้ว่าเล็บจะเป็นอวัยวะชิ้นเล็กๆแต่ทุกคนก็ควรต้องให้ความสำคัญ หมั่นคอยสังเกตสม่ำเสมอว่าเล็บมีลักษณะผิดปกติหรือต่างจากเดิมไหม หรือถ้าหากดูแล้วไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์ดีที่สุด เพราะถ้าหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นจริงจะได้รีบรักษาให้หายโดยเร็ว... ** สังเกตตัวเองแล้วก็อย่าลืมสังเกตคนรอบข้างหรือคนใกล้ตัวด้วยนะครับ..