บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ รวมพลังจิตอาสาพนักงานและชุมชนกว่า 2 พันคนเก็บขยะชายหาด 7 จุด ใน 7 จังหวัด เนื่องในสัปดาห์วันเก็บขยะชายหาดสากล (International Coastal Cleanup Day) ระหว่างวันที่ 6-15 กันยายน 2566 สามารถเก็บและคัดแยกขยะได้กว่า 5,861 กิโลกรัม เพื่อร่วมปกป้องระบบนิเวศ คืนสภาพทะเลสู่ความอุดมสมบูรณ์
นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า การดูแลสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของห่วงโซ่อาหารที่สำคัญของโลก เป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัท ในการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) จากที่ซีพีเอฟได้ขับเคลื่อนเป้าหมายความมุ่งมั่นปกป้องทะเลและมหาสมุทรโลก CPF Restore the Ocean ในปีที่ผ่านมา โดยสร้างการมีส่วนร่วมชุมชน ผนึกกำลังเครือข่ายภาคประสังคม พนักงานจิตอาสา เก็บและคัดแยกขยะชายหาดใกล้พื้นที่สถานประกอบการแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน
ผลลัพธ์เชิงบวกจากกิจกรรมปีที่ผ่านมา พบว่าหลายพื้นที่มีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนที่ต่อเนื่อง ชายหาดสะอาดขึ้น เกิดความตระหนักด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสู่พนักงานและชุมชนเก็บคัดแยกขยะทะเลและบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี มีการนำขยะทะเลบางชนิดไปสู่การพัฒนาต่อยอดเป็น ผลิตภัณฑ์ Upcycle เช่น โฟม แห อวนพลาสติกไปผลิตอิฐมวลเบา ฝาขวดน้ำพลาสติกไปผลิตเป็นกระถางต้นไม้และภาชนะต่างๆ พร้อมทั้งสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านขยะทะเลในชุมชนที่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นที่ 7 พื้นที่ 7 จังหวัดชายฝั่งใกล้สถานประกอบการของซีพีเอฟ ได้แก่ หาดหน้าทับ จ.ชุมพร หาดแพรกเมือง จ.นครศรีธรรมราช หาดม่วงงาม จ.สงขลา หาดเรือรบปากน้ำประแส จ.ระยอง หาดบางสัก จ.พังงา หาดหอยขาว จ.ตราด และศูนย์วิจัยและพัฒนาป่าชายเลนที่ 2 จ.สมุทรสาคร โดยจิตอาสาซีพีเอฟและพันธมิตร สามารถเก็บและคัดแยกขยะได้ทั้งหมดกว่า 5,861 กิโลกรัม จากผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 2,095 คน ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ขวดแก้ว โฟม อุปกรณ์ประมง และเศษวัสดุอื่นๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกรวบรวมและบันทึกอย่างเป็นระบบตามหลักการของ Ocean Conservancy องค์กรประชาสังคมที่เน้นสร้างเครือข่ายจัดการขยะชายฝั่งในระดับสากล เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลที่ยั่งยืนต่อไป
นางกอบบุญ กล่าวทิ้งท้ายว่า "กิจกรรมนี้ช่วยปลูกฝังทั้งให้พนักงานและชุมชนได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมดูแลปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ซึ่งเป็นต้นทางความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้แนวทางการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลอย่างเป็นระบบ จากซีพีเอฟ สอดรับกับเป้าหมายของซีพีเอฟในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป"