รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา "Seminar and Workshop on The opportunity of Thai cosmetic ingredients/products to EU market" ร่วมกับ COSMED องค์กรระดับชาติ หนึ่งในเครือข่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของประเทศฝรั่งเศส โดยมี นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน สู่การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการกลุ่มอุสาหกรรมเครื่องสำอางไทยในอนาคต โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสาวนิธิวดี สมบูรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายประสานเครือข่ายผู้ให้บริการ SMEs และส่งเสริมนโยบายภาครัฐ (สสว.) และ Dr. Caroline Bassoni, Regulatory Affairs Director, COSMED, France พร้อมด้วยผู้บริหาร วว. และผู้ประกอบการ SMEs เข้าร่วมการสัมมนาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ในวันที่ 19 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร Admin วว. เทคโนธานี จ.ปทุมธานี
การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ Dr. Daroline Bassoni จาก COSMED ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐาน และผู้เชี่ยวชาญจาก วว. ร่วมถ่ายทอดความรู้ด้านกฎ ระเบียบ และเอกสารประกอบการนำเข้าสารสกัดธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศในสหภาพยุโรปและฝรั่งเศส ตลอดจนแนวทางการยกระดับมาตรฐานและการกล่าวอ้างข้อความ "Natural หรือ Organic" ของสารสกัดและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการทดสอบด้านการสลายตัวทางชีวภาพของผลิตภัณฑ์เคมี
ปัจจุบันธุรกิจเครื่องสำอางของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนด้านความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย พืช สัตว์ จุลินทรีย์ และแร่ธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสมุนไพร ซึ่ง วว. และ สสว. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการสนับสนุนการสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้เล็งเห็นความสำคัญในการนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยทั้งในและต่างประเทศ นอกจากภารกิจดังกล่าวแล้ว วว. ยังมีโครงสร้างพื้นฐาน คือ ศูนย์บริการนวัตกรรมเวชสำอางแบบครบวงจร หรือ ICOS ที่มีศักยภาพรองรับการให้บริการผลิตเครื่องสำอาง สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการมีแบรนด์และเป็นเจ้าของธุรกิจเครื่องสำอางโดยไม่ต้องลงทุนตั้งโรงงาน ส่วน สสว. มีภารกิจมุ่งบูรณาการและผลักดันการส่งเสริม MSME ให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล จากความพร้อมและศักยภาพของทั้งสองหน่วยงาน จะเป็นกลไกขับเคลื่อน ในการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้มแข็งและมีศักยภาพด้านการแข่งขันมากขึ้น
ดูข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.tistr.or.th/PressCenter/news/8026/