กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะเจ้าของสถานประกอบการร่วมสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันเสียงดังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ด้วยการควบคุมแหล่งกำเนิดเสียง โดยเลือกใช้เครื่องจักรที่มีระบบการทำงานเงียบ หรือเสียงดังน้อย จัดวางเครื่องจักรให้อยู่ในตำแหน่งที่มั่นคง เนื่องจากอาจเกิดเสียงจากการสั่นสะเทือนของเครื่องจักร อีกทั้งควรควบคุมทางผ่านของเสียงด้วยการจัดทำห้องหรือกำแพงกั้นเสียง ตลอดจนควรจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันและลดความดังของเสียงให้คนงานใช้ เช่น ที่ครอบหู ปลั๊กอุดหู
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม ก็คือ ปัญหามลพิษทางเสียง ซึ่งหากมนุษย์ได้ยินเสียงที่ดังมากกว่าปกติเป็นเวลาติดต่อกันนานๆก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน โดยองค์กรอนามัยโลกได้กำหนดว่าระดับเสียงที่ดังเกินกว่า ๘๕ เดซิเบลเป็นอันตรายอย่างมากต่อมนุษย์ เนื่องจากระดับเสียงที่ดังมากเกินไปจะทำให้ขาดสมาธิในการทำงานและส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง รวมทั้งก่อให้เกิดอาการป่วย เช่น โรคกระเพาะ และความดันสูง เป็นต้น ทั้งนี้ หากมนุษย์ได้ยินเสียงที่มีระดับความดังเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดเป็นระยะเวลานานเกินไป จะทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินอย่างชั่วคราวหรือถาวรได้ เพื่อเป็นการป้องกันและ ลดความดังของเสียงในสถานประกอบการ ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน รวมถึงสภาพจิตใจและร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอให้เจ้าของสถานประกอบการร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน (Safety Culture) ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างปลอดภัยดังนี้ ควบคุมแหล่งกำเนิดเสียง ด้วยการออกแบบอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักรให้มีระบบการทำงานที่เงียบ เก็บเสียง และเสียงดังน้อย หรืออาจเลือกใช้อุปกรณ์ที่เป็นระบบไฮดรอลิก แทนการใช้ระบบกลเพื่อลดระดับเสียงไม่ให้ดังเกินไป จัดหาที่ล้อมเครื่องจักร โดยนำวัสดุดูดซับเสียงบุในโครงสร้างปิดล้อมเครื่องจักร เพื่อลดความดังของเสียง ขณะเครื่องจักรกำลังทำงาน และติดตั้งเครื่องจักรในตำแหน่งที่มั่นคง เนื่องจากอาจเกิดเสียงจากการสั่นสะเทือนของเครื่องจักรรบกวนการทำงาน อีกทั้งควรหมั่นดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักรอยู่เสมอ ด้วยการหยอดน้ำมันหล่อลื่น เพื่อลดเสียงดังจากการเสียดสีกันของเครื่องจักร ที่สำคัญ เจ้าของสถานประกอบการควรควบคุมทางผ่าน ของเสียง โดยควรจัดวางเครื่องจักรกลให้เว้นระยะห่างจากกันอย่างเหมาะสม จัดทำกำแพงกั้นโดยใช้วัสดุเก็บเสียง เพื่อป้องกันมิให้เสียงเล็ดลอดออกมาสู่ภายนอก นอกจากนี้ ควรควบคุมการรับเสียงของผู้ปฏิบัติงาน ด้วยการจัดหาอุปกรณ์ในการควบคุมการรับเสียงให้คนงานใช้ เช่น ที่ครอบหู และปลั๊กอุดหู ซึ่งจะช่วยลดระดับความดังของเสียงได้ ตลอดจนลดระยะเวลาในการปฏิบัติงานของผู้ที่ต้องทำงานในบริเวณที่มีเสียงดังเกินมาตรฐาน ทั้งนี้ เพื่อให้สภาพแวดล้อมในการทำงานมีความปลอดภัย ไม่มีเสียงดังรบกวนสมาธิในการทำงาน หรือก่อให้เกิดความ ไม่ปลอดภัยในการทำงาน