กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนผู้ขับขี่รถทุกประเภท ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับขี่ นอกจากถือเป็นการกระทำผิดกฎจราจรแล้วยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าปกติ ๒ — ๔ เท่า เนื่องจากทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิ ปฏิกิริยาโต้ตอบในการขับขี่ช้าลง ความสามารถในการเบรกช้าลง ๐.๕ วินาที ไม่สามารถจดจำรายละเอียดของป้ายข้างทางได้ รวมถึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าผู้ขับขี่ที่มีระดับแอลกอฮอล์มากกว่า ๘๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์หากจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ ควรใช้อุปกรณ์เสริม หรือแฮนด์ฟรี หรือหาที่จอดรถริมทาง เพื่อความปลอดภัย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า แม้ว่าโทรศัพท์มือถือจะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสาร แต่หากใช้อย่างไม่ถูกวิธี อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ โดยเฉพาะหากใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถ จะเพิ่มความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อความปลอดภัย พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตราที่ ๔๓ ได้ระบุไว้ว่า ห้ามขับรถในขณะที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นเสียแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา ซึ่งผู้ขับขี่ต้องไม่ใช้มือถือหรือใช้มือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับตั้งแต่ ๔๐๐ — ๑,๐๐๐ บาท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนผู้ขับขี่รถทุกประเภท ให้ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (Road Safety Culture) ด้วยการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ เพราะนอกจากจะผิดกฎหมาย ถูกจับและปรับแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนอีกด้วย เนื่องจากผลการวิจัยของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศต่างระบุตรงกันว่า การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างขับรถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าปกติถึง ๒ — ๔ เท่า เพราะการขับขี่ต้องใช้ประสาทสัมผัสในการมองเห็น การได้ยินและการทรงตัว ผู้ขับขี่ควรมีสมาธิ เพราะสมองต้องประมวลผลการรับรู้สภาพถนน รถรอบข้าง และเหตุการณ์รอบตัวอย่างต่อเนื่อง การคุยโทรศัพท์จะทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิ มีปฏิกิริยาโต้ตอบในการขับขี่ช้าลง การตัดสินใจเหยียบเบรกการบังคับพวงมาลัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินช้าลงกว่าปกติ ๐.๕ วินาที ซึ่งแม้จะเป็นเพียงระยะเวลาเล็กน้อย แต่อุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้เพียงเสี้ยววินาที รวมทั้งยังส่งผลต่อการมองเห็นป้ายสัญลักษณ์ป้ายจราจร ป้ายบอกทาง (Inattention Blindness) แม้จะมองเห็นป้ายแต่ก็ไม่สามารถจดจำรายละเอียดของป้ายได้ ซึ่งอาการนี้จะไม่เกิดกับผู้ขับรถที่ฟังเพลง หรือพูดคุยกับผู้ร่วมโดยสาร ทั้งยังมีโอกาสที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงกว่าผู้ขับขี่ที่เมาสุรา หรือมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน ๘๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ในขณะขับขี่ยานพาหนะ ควรใช้อุปกรณ์เสริม หรือแฮนด์ฟรีจะปลอดภัยมากกว่า หากไม่มีควรหาที่จอดรถริมข้างทางในบริเวณที่ปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุมาจากการโทรศัพท์ในขณะขับรถ