นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแนวทางที่รัฐบาลประกาศนโยบายกวาดล้างยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติว่า กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2565 - 2570 มีวิสัยทัศน์ "กรุงเทพมหานครปลอดภัยจากยาเสพติดด้วยเครือข่ายความร่วมมือที่มีศักยภาพ" ประกอบด้วย (1) มาตรการป้องกัน (2) มาตรการบำบัดฟื้นฟู (3) มาตรการปราบปราม และ (4) มาตรการบริหารจัดการ โดยจัดทำแผนปฏิบัติการรายปี โดยปี 2567 มีภาคีเครือข่ายทั้งภายในและนอกสังกัด กทม.ร่วมกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์การป้องกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ปปส.กทม.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ซึ่งจะถ่ายทอดการปฏิบัติลงสู่ชุมชนครอบคลุม 50 เขตต่อไป
ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน สถานศึกษา และสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนกลไกผ่านศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเขต (ศป.ปส.เขต) 50 เขต จัดให้มีอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยและยาเสพติดกรุงเทพมหานคร อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครเชี่ยวชาญยาเสพติด สนับสนุนการดำเนินงานโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด TO BE NUMBER ONE ในชุมชน สถานศึกษา และสถานประกอบการ ส่งเสริมการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน สนับสนุนการดูแลผู้มีปัญหายาเสพติด โดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นฐาน (Community - Based Treatment - CBTx) และการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) ประสานการช่วยเหลือกับศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม และการดำเนินงานชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน ส่วนสถานประกอบการได้จัดกิจกรรมเสริมความรู้เท่าทันต่อปัญหายาเสพติดให้กับพนักงาน สนับสนุนการดำเนินงานตามมาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการ (มยส.) ตรวจคัดกรองการใช้ยาเสพติดในกลุ่มพนักงาน และส่งเสริมความรู้ รวมถึงแนะนำให้กลุ่มแรงงานนอกระบบป้องกันตนเองจากยาเสพติดและเข้าถึงระบบการรักษา ส่งผลให้สามารถค้นหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่การบำบัดได้ 1,646 ราย ค้นพบผู้สงสัยมีอาการทางจิต 16 ราย โดยสำนักงานเขต 50 เขต จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง 136 ชุมชน และขยายพื้นที่ดำเนินการเพิ่ม 77 ชุมชน รวมทั้งสิ้น 213 ชุมชน
นอกจากนั้น ยังได้จัดทำแนวทางการคัดกรอง ดูแลช่วยเหลือนักเรียน และดำเนินแนวทางการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษพิษภัยและอันตรายของยาเสพติดประเภทต่าง ๆ โดยสอดแทรกผ่านกิจกรรม ในชั้นเรียนตามช่วงวัยที่เหมาะสม ประกอบด้วย ระดับปฐมวัย ดำเนินการโดยใช้หลักสูตรทักษะทางสมอง EF หรือ Executive Function แก่เด็กปฐมวัย อายุ 3-5 ปี ในสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชน ระดับประถมศึกษา ให้ความรู้การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดโดยใช้แนวคิดศูนย์ศึกษาชีวิต (Life Education Center) ระดับชั้นมัธยมศึกษา มีระบบคัดกรองนักเรียน โดยใช้แบบประเมินภูมิคุ้มกันยาและสารเสพติดในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยแบ่งนักเรียนเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภูมิคุ้มกันปกติ กลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำ และกลุ่มที่มีความเสี่ยง และให้การช่วยเหลือ ประกอบกับการสอนทักษะชีวิตป้องกันยาเสพติด พร้อมทั้งจัดกิจกรรมผ่านศูนย์ SDLC (SELF DISCOVERY LEARNING CENTER) ที่เหมาะสมกับวัย 3-15 ปี ภายใต้กรอบความรู้ "เรียนเล่น เรียนรู้ สู่การค้นหาคุณค่าตนเอง" ปัจจุบันรับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัย ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ทั้งในและนอกสังกัด กทม. รวมทั้งโรงเรียนสังกัด กทม.ได้จัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE และศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาอีกด้วย