กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB FM) เผยว่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอ่อนค่าเร็ว แต่มีแนวโน้มแข็งค่าได้ในช่วงปลายปีนี้จาก 1) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มลดลง จากราคาน้ำมันที่จะเริ่มทรงตัว และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่น่าจะชะลอลงตามการใช้จ่ายผู้บริโภคที่แผ่วลง 2) นโยบายสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของไทยจะช่วยสนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดได้ และแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่อาจเข้ามามากขึ้นหลังความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง โดยมองค่าเงินบาท ณ สิ้นปี อาจอยู่ที่กรอบราว 34.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาว สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นเร็ว ในระยะต่อไปมองว่ามีโอกาสปรับสูงขึ้นได้อีกเล็กน้อย ตาม Yields ของสหรัฐฯ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทย เนื่องจากแผนออกพันธบัตรรัฐบาลที่จะเพิ่มอีกราว 1.6 แสนล้านบาท อาจจะยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับแนวโน้มการขาดดุลของภาครัฐที่จะมากขึ้น ส่วน Yields ระยะสั้นไทยอาจสูงขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่ง SCB FM ประเมินว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปีนี้
นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะคงดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาด แต่ก็ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 1 ครั้งในปีนี้ และในปีหน้าจะลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเร็ว และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น สำหรับในระยะต่อไป ประเมินว่า Fed มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps ภายในปีนี้ เนื่องจาก 1) ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นเร็ว ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อจะกลับมาสูงขึ้น 2) ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง ทำให้รับมือกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้ และ 3) ตลาดการเงินน่าจะไม่ผันผวนมากนัก เนื่องจากนักลงทุนมองว่ามีโอกาสสูงกว่า 50% ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีก
นายวชิรวัฒน์ กล่าวต่อว่าเงินบาทอ่อนค่าลงเร็วถึง 3% ในเดือนนี้ เป็นผลจากทั้งปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ กล่าวคือ 1) เศรษฐกิจโลกที่มีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวดีกว่าคาด ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและจีนอ่อนแอกว่าคาด ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะในพันธบัตรรัฐบาล (US Treasury) ระยะสั้น กดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง 2) ราคาน้ำมันโลกที่ปรับสูงขึ้นเร็วส่งผลดีต่อสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิ โดยทำให้ดุลการค้าที่ปรับดีขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลง เงินดอลลาร์จึงแข็งค่า นอกจากนี้ ไทยซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิจะได้รับผลกระทบทางลบจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มลดลง 3) ความกังวลเรื่องการขาดดุลทางการคลังของไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลวางแผนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ นักลงทุนบางส่วนจึงเริ่มกังวลว่าไทยมีโอกาสถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง (Credit rating downgrade) จึงทำให้ความเชื่อมั่นลดลง เงินทุนไหลออก
สำหรับในช่วงปลายปี นายวชิรวัฒน์มองว่า เงินบาทยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อย จาก 1) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มลดลง จากราคาน้ำมันที่จะเริ่มทรงตัว และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่น่าจะชะลอลงตามการใช้จ่ายผู้บริโภค เงินออมของครัวเรือนที่ลดลง และภาระหนี้ที่สูงขึ้น 2) นโยบายสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของไทยจะช่วยสนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดได้ และแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่อาจเข้ามามากขึ้นหลังความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลง อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจปรับแข็งค่าได้ไม่มากนัก เนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอาจไม่มากเท่าที่เคยประเมินไว้ จากราคาน้ำมันที่สูงกว่าคาดและเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ โดยมองค่าเงินบาท ณ สิ้นปี อาจอยู่ที่กรอบราว 34.50-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สำหรับด้านกลยุทธ์นั้น แนะให้ลูกค้ากลุ่มผู้ส่งออกอาจทยอยขายเงินดอลลาร์สหรัฐออกได้ในที่ระดับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์หรือเหนือกว่าได้ ส่วนลูกค้ากลุ่มผู้นำเข้าอาจรอจังหวะซื้อที่ระดับต่ำกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงไตรมาส 4 พร้อมทั้งอาจพิจารณาป้องกันความเสี่ยงเงินบาทอ่อนค่าผ่านการซื้อ FX options
ด้านตลาดพันธบัตรรัฐบาล นายวชิรวัฒน์กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาว (bond yields) ปรับสูงขึ้นเร็ว จากความกังวลเรื่องหนี้ภาครัฐและอุปทานพันธบัตรที่อาจเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากภาครัฐจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ประกาศแผนออกพันธบัตรรัฐบาลสำหรับปีงบประมาณ 2024 เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ราว 1.6 แสนล้านบาท ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นราว 15 bps มาอยู่ที่ 3.15% นอกจากนี้ การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อของ Fed และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวนานกว่าคาด (Higher for Longer) ทำให้ bond yields สหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น จึงอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อ bond yields ไทยเพิ่มเติมได้
นายวชิรวัฒน์ มองว่าในระยะต่อไป มีโอกาสที่ Yields พันธบัตรรัฐบาลไทยอาจปรับสูงขึ้นได้อีกเล็กน้อย โดย Yields ระยะยาวอาจสูงขึ้นตาม Yields ของสหรัฐฯ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทย เนื่องจากแผนออกพันธบัตรรัฐบาลที่จะเพิ่มอีกราว 1.6 แสนล้านบาท อาจจะยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับแนวโน้มการขาดดุลของภาครัฐที่จะมากขึ้น ส่วน Yields ระยะสั้นไทยอาจสูงขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่ง SCB FM ประเมินว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปีนี้ จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากทั้งฝั่งอุปสงค์ (ตามการอัดฉีดจากภาครัฐ) และอุปทาน (จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเร็ว) โดยมองว่ามีโอกาสที่ Yields ระยะยาวจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่าจากความกังวลเรื่องอุปทาน ทำให้ Yield curve มีแนวโน้มชันขึ้น (Bear steepening)