- คาดว่าผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจะทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง 15.7% จากรายได้เฉลี่ยในช่วงสองปีที่ผ่านมา
- ความท้าทายในระยะสั้นส่วนใหญ่เกิดจากความผันผวนทางเศรษฐกิจและต้นทุน
- พบว่าเกษตรกร 4 ใน 5 รายได้ดำเนินการหรือวางแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
มอนไฮม์ (Monheim), 21 กันยายน 2566 - จากผลสำรวจ "เสียงจากเกษตรกร (Farmer Voice)" พบว่า เกษตรกร 71% ระบุปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรและรู้สึกกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เกษตรกร 73% เผชิญกับปัญหาแมลงศัตรูพืชและโรคพืชที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้คาดว่ารายได้เฉลี่ยของเกษตรกรจะลดลง 15.7% เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา เกษตรกร 1 ใน 6 ระบุว่าสูญเสียรายได้มากกว่า 25% ในช่วงนี้
ข้อมูลสำคัญบางส่วนจากแบบสำรวจ "เสียงจากเกษตรกร (Farmer Voice)" ที่เผยแพร่วันนี้เกี่ยวกับความท้าทายที่เกษตรกรทั่วโลกกำลังเผชิญ เผยว่าเกษตรกรพยายามบรรเทาผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและปรับตัวสำหรับอนาคต ไบเออร์ บริษัทไลฟ์ซายน์ได้มอบหมายให้บริษัทตัวแทนรับหน้าที่ในการสำรวจแบบอิสระกับเกษตรกรทั่วโลกจำนวน 800 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนจากฟาร์มขนาดใหญ่และขนาดเล็กในจำนวนเท่าๆ กันจากประเทศออสเตรเลีย บราซิล จีน เยอรมนี อินเดีย เคนย่า ยูเครน และสหรัฐอเมริกา
เกษตรกรคาดว่าผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจะยังคงดำเนินต่อไป เกษตรกรทั่วโลก 3 ใน 4 (76%) กังวลกับผลกระทบจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบต่อการทำการเกษตรของตน ซึ่งเกษตรกรที่รู้สึกกังวลมากที่สุดคือเกษตรกรในประเทศเคนย่าและอินเดีย นายโรดริโก ซานโตส (Rodrigo Santos) สมาชิกคณะกรรมการบริหารของไบเออร์ เอจี และประธานแผนกครอปซายน์ กล่าวว่า "เกษตรกรกำลังประสบกับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในฟาร์มของตน และในขณะเดียวกันเกษตรกรก็มีบทบาทสำคัญในการจัดการกับความท้าทายครั้งใหญ่นี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการรับฟังและให้ความสำคัญกับเสียงจากเกษตรกร ความสูญเสียที่เกิดขึ้นที่ถูกระบุในรายงานการสำรวจครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลกอย่างชัดเจน จากปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมไปกับจำนวนประชากรมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นตัวเร่งความพยายามในการปฏิรูประบบเกษตรกรรม"
ความท้าทายทางเศรษฐกิจกำลังสร้างความกดดันต่อเกษตรกร
แม้ว่าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจะเป็นประเด็นหลักที่เห็นได้ชัด แต่ความท้าทายทางเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในอีกสามปีข้างหน้า เกษตรกรมากกว่าครึ่งหนึ่ง (55%) จัดอันดับให้ต้นทุนปุ๋ยเป็นหนึ่งในความท้าทายสามอันดับแรก ตามด้วยต้นทุนพลังงาน (47%) ความผันผวนของราคาและรายได้ (37%) และต้นทุนสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช (36%) ซึ่งต้นทุนปุ๋ยมีความสำคัญและเห็นได้ชัดที่สุดในประเทศเคนย่า อินเดีย และยูเครน
เกษตรกร 70% ในยูเครนระบุว่าต้นทุนปุ๋ยคือหนึ่งในความท้าทายสามอันดับแรกซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นผลกระทบรูปธรรมที่ชัดเจนจากการทำสงครามที่สร้างความกดดันใหญ่ต่อเกษตรกรในประเทศ นอกจากนี้ เกษตรกร 40% ระบุว่าการประกอบการที่หยุดชะงักลงเป็นวงกว้างเนื่องจากสงครามคือความท้าทายอันดับต้นๆ นอกจากนั้น เกษตรกรชาวยูเครนได้แบ่งปันข้อมูลต่างๆ ในลักษณะเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่น เกษตรกรมากกว่าสามในสี่ (77%) กล่าวว่าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบใหญ่ต่อฟาร์มของตนแล้ว
เกษตรกรกำลังดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและให้ความสำคัญกับนวัตกรรม
เกษตรกรมากกว่า 80% ที่ทำแบบสำรวจกำลังดำเนินการหรือวางแผนที่จะดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยให้ความสำคัญในการปลูกพืชคลุมดิน (43% ดำเนินการดังกล่าวแล้วหรือกำลังวางแผนที่จะดำเนินการ) การใช้พลังงานหมุนเวียนหรือเชื้อเพลิงชีวภาพ (37%) และการใช้เมล็ดพันธุ์นวัตกรรมใหม่เพื่อลดการใช้ปุ๋ยหรือผลิตภัณฑ์สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช (33%) นอกจากนี้ เกษตรกรทุกคนที่ได้ทำการสำรวจยังกล่าวว่าได้ดำเนินการหรือวางแผนที่จะใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อปรับปรุงความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรเกินครึ่งหนึ่ง (54%) กล่าวว่าได้นำมาตรการไปใช้ป้องกันแมลงแล้ว เช่น โรงแรมแมลง หรือมีแผนที่จะดำเนินการในอีกสามปีข้างหน้า
เกษตรกรให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เกษตรกรมากกว่าครึ่งหนึ่ง (53%) กล่าวว่าการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ที่ออกแบบมาเพื่อรับมือกับสภาพอากาศได้ดีขึ้นจะเป็นประโยชน์ที่สุดกับฟาร์มของตน เกษตรกรในจำนวนใกล้เคียงกันนี้ (50%) เรียกร้องให้มีเทคโนโลยีที่ใช้ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ดีขึ้น ขณะที่เกษตรกร 42% กล่าวว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีการชลประทานได้มากขึ้นจะเป็นประโยชน์กับฟาร์มของตน การพิจารณาแนวทางการทำการเกษตรของเกษตรกร การปรับปรุงการใช้ดินอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีความหลากหลาย และการปรับปรุงสภาพดินให้ดีขึ้นได้รับการจัดอันดับให้เป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดในการรับมือกับความท้าทายให้ประสบผลสำเร็จ
สิ่งที่น่าสนใจ: เกษตรกรรายย่อยชาวอินเดียให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยง
นอกเหนือจากข้อมูลในแบบสำรวจทั่วโลกที่ได้สัมภาษณ์เกษตรกร ไบเออร์ยังได้สัมภาษณ์เกษตรกรรายย่อยชาวอินเดียจำนวน 2,056 ราย จากฐานข้อมูลลูกค้าของไบเออร์ ซึ่งได้เห็นมุมมองที่สำคัญ จากผู้มีบทบาทในการผลิตและรักษาความมั่นคงทางอาหารของโลก เกษตรกรในปัจจุบันเผชิญกับความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งคือต้นทุนแรงงานและต้นทุนปุ๋ย รวมถึงการได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ดังนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่คาดว่าปริมาณผลผลิตจะลดลง (42%) และแรงกดดันเรื่องแมลงศัตรูพืชจะเพิ่มขึ้น (31%) เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรรายย่อยชาวอินเดียให้สัมภาษณ์มุ่งเน้นไปที่การลดความเสี่ยง การให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการเงินผ่านการทำประกัน (26%) และการปรับรูปแบบโครงสร้างพื้นฐาน (21%)
เมื่อสอบถามถึงอนาคต เกษตรกร 60% กล่าวว่าจะเป็นประโยชน์ที่สุดหากสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและผลิตภัณฑ์ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ทันสมัย แม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายทั้งหมด แต่เกษตรกรรายย่อยชาวอินเดียยังคงมีมุมมองที่ดี โดยเกษตรกร 8 ใน 10 ยังมีความหวังต่อการทำเกษตรในอนาคต
ผลสำรวจดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดเชิงคุณค่าเกี่ยวกับลำดับความสำคัญและความต้องการ เกษตรกรรายย่อยในอินเดีย ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนกลยุทธ์การทำเกษตรของไบเออร์ที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย 100 ล้านรายภายในปี 2573 ซึ่งบริษัทได้บรรลุเป้าหมายในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการให้กับเกษตรกรไปแล้ว 52 ล้านรายในปี 2565
ความท้าทายของเกษตรกรทั่วโลก
ผลสำรวจโดยรวมจากแบบสำรวจ "Farmer Voice" แสดงให้เห็นมุมมองทั่วไปแบบกว้างๆ เกี่ยวกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตของเกษตรกรทั่วโลก แม้มุมมองจากเกษตรกรในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกลับเป็นข้อกังวลเดียวกันสำหรับเกษตรกรในทุกประเทศ "เกษตรกรกำลังเผชิญความท้าทายหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกัน อย่างไรก็ตาม เราพบว่าเกษตรกรมีความหวัง โดยเกษตรกรเกือบสามในสี่รู้สึกเชิงบวกต่อการทำการเกษตรในอนาคตในประเทศของตน" นายโรดริโก ซานโตส กล่าว "ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประทับใจและน่าให้การสนับสนุน มุมมองจากเกษตรกรในรายงานแบบสำรวจจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาและทำความเข้าใจให้มากขึ้น มุมมองดังกล่าวเป็นสิ่งกระตุ้นให้มีการดำเนินการเพื่อระบบอาหารทั้งหมดในการคิดค้น ร่วมสร้าง ส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร ในฐานะไบเออร์ต้องการที่จะเป็นผู้นำที่สำคัญในการผลักดันความพยายามดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรรีบดำเนินการ"
เสียงจากเกษตรกร (Farmer Voice) เป็นแบบสำรวจจากเกษตรกร 800 รายจากแต่ละประเทศในจำนวนเท่าๆ กัน ซึ่งได้แก่ประเทศออสเตรเลีย บราซิล จีน เยอรมนี อินเดีย เคนย่า ยูเครน และสหรัฐอเมริกา ที่ดำเนินการสำรวจอย่างเป็นอิสระโดย Kekst CNC และสุ่มคัดเลือกเกษตรกรในแต่ละตลาด ซึ่งผู้ตอบแบบสำรวจจะไม่ทราบว่าการสำรวจนี้กำลังดำเนินการในนามของไบเออร์จนกว่าการทำแบบสำรวจจะเสร็จสิ้น และไบเออร์จะไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการคัดเลือกตัวอย่าง การสัมภาษณ์ดำเนินการในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2566 และยังทำการสำรวจเกษตรกรรายย่อยในอินเดีย 2,056 ราย ด้วยแบบสอบถามสั้นๆ อีกด้วย โดยเป็นเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเกษตรกรโครงการ Better Life Farming เกษตรกรจากโครงการไบเออร์ผู้นำการส่งเสริมเกษตรกร (Bayer-supported Farmer Producer Organizations) และเกษตรกรที่ลงทะเบียนในโครงการการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนของไบเออร์ (Bayer's Sustainable Rice Program) ซึ่งดำเนินการสัมภาษณ์ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2566
ดูรายงานแบบสำรวจ Farmer Voice ได้ที่: http://www.bayer.com/en/agriculture/farmer-voice