'โอสถสภา' ประกาศภารกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมพลังรักษ์โลกจากทุกภาคส่วน เปิดเวทีเสวนาต่อยอดความร่วมมือ 'รัฐ-เอกชน'

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 22, 2023 16:47 —ThaiPR.net

'โอสถสภา' ประกาศภารกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมพลังรักษ์โลกจากทุกภาคส่วน เปิดเวทีเสวนาต่อยอดความร่วมมือ 'รัฐ-เอกชน'

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อโลกในวงกว้างหลากหลายมิติ อาทิ ภาวะโลกร้อนจากอุณหภูมิโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้นานาประเทศหาแนวทางการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อกอบกู้และรักษาโลก โดยร่วมกันกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย (Sustainable Development Goals: SDGs) รวมถึงการทำความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ตั้งเป้าหมายจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ในขณะที่ประเทศไทยได้มีการประกาศเป้าหมายสำคัญในความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 จากการประชุม COP26 โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมผลักดันให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผลตามที่ตั้งไว้

บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ในฐานะหนึ่งในผู้นำธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยที่ดำเนินการธุรกิจมากว่า 132 ปี ได้ตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวและเดินหน้าวางกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กับแผนงานทางธุรกิจ พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนเดินหน้าภารกิจรักษ์โลก กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและโลก จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ "Sustainability Dialogue: Mission to Carbon Neutral" โดยได้รวมพลังกับหน่วยงานภาครัฐ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตลอดจนองค์กรมหาชน เพื่อแบ่งปันข้อมูลและความร่วมมือ รวมถึงทิศทางนโยบายด้านความยั่งยืนจากภาครัฐ นำไปสู่โอกาสในการสร้างเครือข่ายธุรกิจ สานเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยภาพรวมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

นางวรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "โอสถสภาได้วางแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กับการขับเคลื่อนธุรกิจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานระยะสั้นภายในปี พ.ศ. 2568 ใน 5 ด้าน ได้แก่ (1) ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน คือการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจกับคู่ค้ารายย่อย จำนวน 450 ราย การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้จัดหาวัตถุดิบท้องถิ่น 500 ราย และ 100% ของคู่ค้ารายสำคัญได้รับการประเมินครอบคลุม 3 ด้าน คือสิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG (2) ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้บริโภค คือ 100% ของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจะมีส่วนประกอบของน้ำตาลลดน้อยลง และ 50% ของกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและลูกอมจะเป็นสูตรปราศจากน้ำตาล (3) ด้านการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย 100% ของบรรจุภัณฑ์จะต้องนำไปรีไซเคิล ใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้ภายในปี พ.ศ. 2573 (4) ด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยจะลดปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลดลง 40% (5) ด้านการจัดการพลังงานและการบริหารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะลดปริมาณพลังงานที่ใช้ในโรงงาน 10% และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต 15% พร้อมตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 30% ภายในปี พ.ศ. 2573 สานเป้าหมายระยะยาวมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutrality ภายในปี พ.ศ. 2593 งานเสวนาในวันนี้คือการรวมพลังหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มาร่วมแบ่งปันมุมมองและทิศทางนโยบายด้านความยั่งยืน ถ่ายทอดโรดแมปความยั่งยืน ตลอดจนเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality และต่อยอดสู่การสร้างความร่วมมือเครือข่ายธุรกิจ เพื่อให้พันธกิจรักษ์โลกบรรลุได้ตามเป้าที่วางไว้"

การเสวนา "Sustainability Dialogue: Mission to Carbon Neutral" ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน เอสเอ็มอี องค์กรมหาชน โดยมีตัวแทนเข้าร่วมงานดังนี้ (1) นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (2) นางสาวอโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO (3) นางสาวรัชฎา วานิชกร ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต (4) ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ (5) นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

"การพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยครอบคลุม 3 ด้าน คือสิ่งแวดล้อม (Environment), สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG ซึ่งภาพใหญ่ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของหลายองค์กร คือความมุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตและบริโภค รวมถึงการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โอสถสภาเชื่อว่าด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนและแผนการดำเนินงานครอบคลุมทั้ง 3 ด้านโดยมีพนักงานเป็นพลังในการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ จะทำให้โอสถสภาสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้" คุณวรรณิภา กล่าวสรุป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ