MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง จับมือ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความ ร่วมมือด้านวิชาการเพื่อพัฒนาอนาคตพลังงานที่ยั่งยืน โดยจะร่วมกันสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย พัฒนา และการเรียนรู้เทคโนโลยีทางด้านพลังงานให้กับบุคลากรทั้ง 2 องค์กร มุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และความยั่งยืนในอนาคต
วันนี้ (21 กันยายน 2566) นายสมชาย หอมกลิ่นแก้ว รองผู้ว่าการ MEA พร้อมด้วย ดร.วรวุฒิ วรุตตมพรสุ Country Managing Director บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการ เพื่อพัฒนาอนาคตพลังงานที่ยั่งยืน ณ ห้องประชุม Auditorium อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่คลองเตย
โดยการลงนามในครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่สำคัญ เพื่อที่จะสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษา การวิจัยพัฒนา ตลอดจนการเรียนรู้เทคโนโลยีด้านพลังงานให้กับบุคลากรทั้งสององค์กร โดยความร่วมมือด้านวิชาการดังกล่าวครอบคลุมระยะเวลา 2 ปี สำหรับการถ่ายทอดความรู้ ความชำนาญ และ เทคโนโลยีสมัยใหม่ สำหรับ MEA เป็นหน่วยงานด้านพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญของประเทศ ขณะที่ ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ เป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีพลังงาน ดังนั้น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถ่ายทอดความรู้ระหว่างองค์กร จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในวงกว้างต่อไป
สำหรับความร่วมมือดังกล่าวจะออกมาในรูปแบบการอบรมสัมมนา ศึกษาดูงานในสถานที่จริง การให้ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อให้มองเห็นภาพรวมของการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานร่วมกัน ทั้งนี้ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ พร้อมที่จะต่อยอดเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาระบบไฟฟ้าที่ทันสมัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรมขับเคลื่อนระบบ พลังงานอัจฉริยะ เพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ตามวิสัยทัศน์ และภารกิจหลักของ MEA โดยการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน (Energy Transition) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ไมโครกริด (Microgrid) ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี (BESS) การขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (E-Mobility) ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และอนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy Future) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ในระยะยาว และศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อรองรับเทคโนโลยีพลังงานในปัจจุบัน และในอนาคตต่อไป