จากเส้นไหม สู่ผิวใส ด้วยงานวิจัย “โปรตีนซิริซิน” นวัตกรรมฝีมือคนไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 30, 2008 15:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--สวทช.
โครงการ iTAP เครือข่าย มทส. หนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพิ่มค่างานวิจัย “โปรตีนซิริซินจากเส้นไหม” สู่ตลาดเครื่องสำอางเกรดเอ พร้อมจับมือศูนย์วิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ม.นเรศวร พัฒนาสูตรการผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ‘ซิลเก้ เอวา’ ที่มีส่วนผสมจากโปรตีนซิริซินจากรังไหม มีคุณสมบัติในการบำรุงผิวพรรณและลดรอยหมองคล้ำได้ไม่แพ้เครื่องสำอางนำเข้าราคาแพง
ปัจจุบัน เครื่องสำอางที่ผลิตและวางจำหน่ายอยู่ในตลาดส่วนมากมีส่วนผสมที่มีสารออกฤทธิ์จากสารเคมี หรือ สารสังเคราะห์ ซึ่งบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงต่อผู้ใช้ได้ แต่ยังมีเครื่องสำอางทางเลือกสำหรับผู้ปรารถนาผิวเนียนใส หรือ ช่วยลดรอยหมองคล้ำได้โดยไม่ต้องเสี่ยงกับสารเคมี เพราะผลิตจากธรรมชาติและเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นนำมาเพิ่มมูลค่า ไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบราคาแพงจากต่างประเทศเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงเครื่องสำอางที่มีคุณภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ “สกัดจากโปรตีนธรรมชาติที่ได้จากรังไหม” ที่สำคัญเป็นนวัตกรรมฝีมือจากนักวิจัยไทย
ดร.มาโนชญ์ สุธีรวัฒนานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะนักวิจัย “ซิริซินจากรังไหม” กล่าวว่า ซิริซินเป็นโปรตีนธรรมชาติที่ได้จากเส้นไหมหรือรังไหม ที่ช่วยป้องกันผิวแห้ง ลดการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังมีกรดอะมิโน 16-18 ชนิดซึ่งละลายน้ำได้ดีมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้เป็นอย่างดี จึงถูกนำไปใช้ประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะนิยมนำมาใช้เป็นสารเพิ่มความชุ่มชื้นในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง นอกจากนี้ยังมีการนำผงไหมซิริซินมาใช้ในการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ และทางการแพทย์
โปรตีนซิริซินจะพบได้เฉพาะในเส้นไหมเท่านั้น ทำหน้าที่ปกป้องเส้นใยไหม ปัจจุบันอยู่มี 2 ประเภท คือ ซิริซินจากเส้นไหมสีเหลืองทอง กับเส้นไหมสีขาว และจากการวิจัยยังพบว่าเส้นไหมสีเหลืองทองมีปริมาณโปรตีนซิริซินมากกว่าเส้นไหมสีขาว และมีคุณสมบัติที่มีประโยชน์มหาศาลโดยเฉพาะกับทางการแพทย์ แต่ในส่วนเครื่องสำอางนั้นจะใช้ซิริซินจากเส้นไหมสีขาว เพราะมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และช่วยลดรอยหมองคล้ำได้ เพราะซิริซินจะไปทำหน้าที่ระงับการรวมเม็ดสีของเอ็นไซน์ไทโรซิเนส ซึ่งจะช่วยให้ผิวหน้าสว่างเปล่งปลั่งดูผ่องใสขึ้นเองตามธรรมชาติ เปรียบเสมือนการปกป้องเส้นไหมไม่ให้ถูกทำลายก่อน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ทำวัสดุทางการแพทย์เพราะมีความเหมาะสมกับร่างกาย” ดร.มาโนชญ์ กล่าวและว่า
ในต่างประเทศมีวิธีการสกัดซิริซินจากเส้นไหมเช่นกันแต่เป็นวิธีสกัดคนละแบบ โดยวิธีการสกัดของไทยเป็นวิธีที่ง่ายและปลอดภัยที่สุด ไม่มีสารตกค้าง และนำมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด คือ ได้โปรตีนซิริซินที่ยังสามารถทำปฏิกิริยาได้อย่างที่ต้องการ หรือมีคุณสมบัติเชิงกายภาพตามที่ต้องการ แต่การนำซิริซินไปใช้กับผลิตภัณฑ์อะไรนั้นจะต้องดูถึงความเหมาะสม เนื่องจากโปรตีนซิริซินที่สกัดได้จากเส้นไหมจะมีคุณสมบัติทางกายภาพที่แตกต่างกัน มีขั้นตอนการแปรรูปต่างกัน รวมถึงปริมาณในการใช้ที่ต้องเหมาะสมกับแต่ละผลิตภัณฑ์
สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ ดร.มาโนชญ์ ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรการผลิตโปรตีนซิริซินให้กับมหาวิทยาลัยต้นสังกัด หลังจากใช้เวลาในการวิจัยนานกว่า 3 ปี ต่อมาศูนย์วิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ขอนำตัวอย่างโปรตีนซิริซินจากเส้นไหมดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอดเพื่อค้นหาคุณสมบัติซิริซินที่มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางชนิดแป้งเนื้อแข็ง ( Compact Powder ) และพบว่า “ โปรตีนซิริซิน บี ” มีคุณสมบัติช่วยลดริ้วรอยได้ตามที่ต้องการ โดยได้มีการศึกษาทดลองจากคลีนิกเป็นรายแรกของไทย โดยใช้อาสาสมัคร 40 — 50 คน ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง และสามารถแสดงผลการทดลองที่ออกมาได้อย่างชัดเจน
นายจตุพร ทิวเสถียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะซิริซินแอนด์ไฟโบรอิน จำกัด ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของโปรตีนซิริซิน ภายใต้แบรนด์ “ Silke AVA ” ซึ่งได้รับสิทธิในการผลิตโปรตีนซิริซินตามสิทธิบัตรการผลิตโปรตีนซิริซินของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 มีความสนใจที่จะนำโปรตีนซิริซินจากเส้นไหมมาเพิ่มคุณค่าและมูลค่าจากเดิมที่เคยเป็นของเหลือใช้จากโรงงานผลิตผ้าไหมใน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
โดยในปี 2550 ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้ารับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยได้ร่วมกับดร.มาโนชญ์ ทำการศึกษาและวิจัยเปรียบเทียบการทำเข้มข้นสารสกัดโปรตีนซิริซินจากเส้นไหมหรือรังไหม ด้วยวิธี UF และ Falling-film evaporator ซึ่งเป็นการต่อยอดและพัฒนาวิธีการสกัดโปรตีนซิริซินขึ้นเป็นของตัวเอง และยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรในการพัฒนาสูตรการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชนิดแป้งเนื้อแข็ง ( Compact Powder ) ที่มีส่วนผสมของโปรตีนซิริซินจากเส้นไหม จนสามารถได้สูตรและวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของโปรตีนซิริซินที่มีคุณสมบัติช่วยลดริ้วรอยและลดรอยหมองคล้ำได้ไม่แพ้ผลิตภัณฑ์ราคาแพงจากต่างประเทศ
โครงการฯนี้ เป็นการนำเอาของเหลือใช้ที่เกิดจากการผลิตผ้าไหมโดยสกัดโปรตีนซิริซินออกจากเส้นไหมนำมาพัฒนาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญได้ใช้กระบวนการในการแยกซิริซินซึ่งถือเป็นโปรตีนที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในน้ำและเกิดกลิ่นเหม็น เมื่อดึงซิริซินออกจากน้ำเสียทิ้งลงแหล่งน้ำสาธารณะก็จะไม่ส่งกลิ่นเหม็นไปกระทบต่อชุมชน เป็นการช่วยบำบัดน้ำเสียขจัดปัญหากลิ่นเหม็นได้โดยปริยาย และยังสามารถดึงโปรตีนซิริซินมาเพิ่มมูลค่าใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้อีกด้วย
“ จากการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์นำเข้าที่มีส่วนผสมของโปรตีนซิริซินกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทพัฒนาขึ้น จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัท มีส่วนผสมของโปรตีนซิริซินมากกว่า 4 - 5 เท่า ขณะที่ผลิตภัณฑ์นำเข้ามีซิริซินผสมอยู่ไม่เกิน 1% ด้านราคาจำหน่ายก็ยังถูกกว่านำเข้าจากญี่ปุ่นถึง 6 เท่า ทำให้เรากล้ายืนยันได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทพัฒนาขึ้นนี้ มีโปรตีนซิริซินเป็นส่วนผสมอยู่จริง มีคุณภาพมากกว่าและมีราคาถูกว่า เนื่องจากเรามีซิริซินเป็นวัตถุดิบของตนเองที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น ที่สำคัญเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดลองและรับรองจากศูนย์วิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยนเรศรวร และคลีนิค ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย ขณะนี้มีวางจำหน่ายแล้วในประเทศ โดยบริษัทเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นปี 2551 ที่ผ่านมา ” นายจตุพร กล่าว
ปัจจุบันบริษัทฯได้ขยายการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโปรตีนซิริซินไปยังชุดเครื่องสำอางอื่นๆ เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มช่องทางเลือกให้กับผู้ใช้ ประกอบด้วย ไนท์ครีม อายเซรั่ม บอร์ดี้โลชั่น และแป้งเนื้อแข็ง นอกจากนี้ คาดว่าจะทยอยออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสกรีนแคร์ทั้งหมดภายในปีหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอด และพร้อมขยายออกไปสู่ผลิตภัณฑ์แฮร์แคร์ได้ในอีก 2 ปีข้างหน้าเน้นกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมี่ยมขึ้นไป และเนื่องจากเพิ่งเปิดตัวจึงตั้งเป้ายอดขายสำหรับในปีนี้ไว้เพียง 5 - 6 ล้านบาทเท่านั้น ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คุณจตุพร ทิวเสถียร มือถือ 081-877-3580
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจต้องการขอเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP สามารถติดต่อได้ที่ โครงการ iTAP (สวทช.) ส่วนกลาง โทรศัพท์ 0-2564-7000 ส่วนผู้ประกอบการต่างจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง สามารถติดต่อได้ที่ iTAP เครือข่าย มทส. โทรศัพท์ 044-224814 , 044-224-818 และ 044-244-844
หากต้องการข้อมูลหรือภาพประกอบเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร.0-2270-1350-54
ต่อ 114 ,115 หรือ มือถือ. 0-81421-8133 ( คุณนก ) และ 0-81575-6477 ( คุณเกด )

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ