วิจัยชี้พ่อแม่สูงอายุชนบทไม่เหงาแม้ลูกทำงานเมืองหลวง

ข่าวทั่วไป Wednesday April 30, 2008 15:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--
วิจัยชี้พ่อแม่สูงอายุชนบทไม่เหงาแม้ลูกย้ายถิ่นทำมาหากินเมืองหลวง เผยการย้ายถิ่นของลูกวัยแรงงานไม่ได้ทำให้พ่อแม่สูงอายุที่อยู่ในชนบทถูกทอดทิ้ง ลูกส่วนใหญ่ยังใช้โทรศัพท์ติดต่อพ่อแม่ ระบุลูกที่มีการศึกษาสูง และไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่จะส่งเงินกลับมาช่วยเหลือพ่อแม่ได้มากกว่า ขณะที่ลูกที่อาศัยอยู่ด้วยหรืออยู่ใกล้กันจะช่วยเหลือเรื่องอาหารการกินและดูแลความเป็นอยู่ได้ดีกว่า พร้อมแจงสาเหตุลูกกลับบ้านนอกเพราะห่วงพ่อแม่มากถึงร้อยละ 60
รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการวิจัยเรื่อง ผลกระทบของการย้ายถิ่นของบุตรในวัยแรงงานต่อภาวะความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ สนับสนุนโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นพ่อแม่จำนวน 1,011 ราย ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดกำแพงเพชร นครราชสีมา และศรีสะเกษ ซึ่งเป็นเขตที่มีการย้ายถิ่นของคนในวัยแรงงานมากนั้นจะมีการย้ายถิ่นของลูกในวัยแรงงานสูง เพราะพ่อแม่เกือบร้อยละ 90 ที่มีลูกอย่างน้อย 1 คน จะมีลูกย้ายถิ่นไปทำงานต่างถิ่น โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือเขตเมืองอื่นๆ ห่างไกลจากภูมิลำเนาเดิม
อย่างไรก็ตาม การย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาเดิมก็พบมากถึงร้อยละ 30 ของลูกที่ย้ายไปทำงานที่อื่น โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ของลูกๆ ที่ย้ายกลับมาอยู่ใกล้พ่อแม่จะให้เหตุผลว่าเป็นเพราะห่วงพ่อแม่
“การย้ายถิ่นของลูกวัยแรงงานในประเทศไทยไม่ได้นำไปสู่การทอดทิ้งผู้สูงอายุในเขตชนบทอย่างที่วิตกกังวลกัน ผู้สูงอายุในชนบทที่ถูกทอดทิ้งหรือขาดการติดต่อกับลูกมีจำนวนน้อยมาก พ่อแม่ที่สูงอายุส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่กับลูกหรือไม่ก็อยู่ใกล้ๆ กับลูกคนใดคนหนึ่ง ขณะที่ลูกที่ย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งพ่อแม่ เพราะยังคงติดต่อ ส่งข่าวคราว ไปมาหาสู่ เยี่ยมเยียนกันระหว่างพ่อแม่ลูก”
รศ.ดร.จิราพร กล่าวต่อว่า ลูกที่ย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่นจะส่งเงินกลับมาช่วยเหลือพ่อแม่ โดยลูกที่มีการศึกษาสูงจะส่งเงินกลับ หรือช่วยเหลือด้านเงินทองแก่พ่อแม่ได้มากกว่าลูกที่มีการศึกษาน้อยกว่า และลูกที่ไปทำงานในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ จะส่งเงินกลับหรือช่วยเหลือด้านเงินทองแก่พ่อแม่สูงอายุได้มากกว่าเนื่องจากจะมีรายได้ดีกว่า ส่วนลูกที่อาศัยอยู่ด้วยหรืออยู่ใกล้กันก็จะช่วยเหลือเรื่องอาหารการกินและดูแลความเป็นอยู่
“แม้การย้ายถิ่นของลูกวัยแรงงานจะส่งผลดีต่อพ่อแม่สูงอายุที่อยู่ในชนบท โดยเฉพาะถ้าไปอยู่ในเขตเมืองเนื่องจากจะสามารถให้ความช่วยเหลือด้านเงินทองแก่พ่อแม่จนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีข้าวของเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รวมถึงสามารถซ่อมแซมบ้านหรือซื้อบ้านหลังใหม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันการย้ายไปต่างถิ่นไกลๆ ก็เป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือดูแลใกล้ชิด ส่งผลให้ลูกที่อยู่ใกล้ หรือยังอยู่ในครัวเรือนเดียวกันกับพ่อแม่จะเป็นผู้ดูแลช่วยเหลือได้มากกว่าทั้งอาหารการกิน การทำธุระต่างๆ” รศ.ดร.จิราพร กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามเมื่อพ่อแม่สูงอายุเจ็บป่วยลูกที่ย้ายไปต่างถิ่นจะพาไปรักษายังโรงพยาบาลที่ดีกว่า ตลอดจนยังกลับมาอยู่บ้านชั่วคราวเพื่อดูแลพ่อแม่ยามป่วยหนักด้วย
รศ.ดร.จิราพร กล่าวต่อว่าผลจากการศึกษาครั้งนี้พบว่ามีผู้สูงอายุเพียง 7 รายจากทั้งหมด 1,011 ราย ที่ในรอบปีที่ผ่านมาลูกไม่ได้ติดต่อและไม่ได้ช่วยเหลือด้านเงินทอง นอกจากนั้นยังพบข้อที่น่าสนใจว่าโทรศัพท์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการคงความสัมพันธ์ของครอบครัวระหว่างพ่อแม่กับลูกไว้ เพราะลูกที่ย้ายถิ่นออกไปจะใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารกับพ่อแม่สูงอายุที่อยู่ในชนบท โดยมากถึง 2 ใน 3 ของลูกที่ย้ายถิ่นจะพูดคุยทางโทรศัพท์กับพ่อแม่อย่างน้อยเดือนละครั้ง และมากถึง 4 ใน 5 มีการติดต่อกันทางโทรศัพท์หลายครั้งในปีที่ผ่านมา ซึ่งการได้รับโทรศัพท์จากลูกจะทำให้พ่อแม่สูงอายุมีความรู้สึกเหมือนลูกอยู่ใกล้ๆ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพ่อแม่ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะเป็นกลุ่มที่มีลูกเฉลี่ย 5 — 6 คน เมื่อลูกคนใดคนหนึ่งย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น ก็ยังมีลูกคนอื่นอยู่ด้วยหรืออยู่ใกล้ๆ คอยให้ความช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย แต่สำหรับพ่อแม่กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปนั้นจะเป็นกลุ่มที่มีลูกน้อยลง เฉลี่ย 1 — 2 คน เมื่อลูกต้องย้ายถิ่นไปทำมาหากินที่อื่นจึงไม่มีลูกคนใดอาศัยอยู่ด้วยหรืออยู่ใกล้ๆ จึงนับเป็นปัญหาท้าทายทั้งกับพ่อแม่สูงอายุและรัฐบาลว่าจะดูแล และกำหนดนโยบายช่วยเหลือพ่อแม่สูงอายุเหล่านี้อย่างไรในยามที่พวกเขาเจ็บป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
“การรับมือสถานการณ์การย้ายถิ่นของลูกที่กระทบต่อพ่อแม่สูงอายุนั้น ในเชิงนโยบายรัฐต้องขยายความเจริญสู่จังหวัดที่ห่างไกลกรุงเทพฯ ส่งเสริมกลุ่มคนวัยแรงงานในชนบทให้ทำงานในพื้นที่ สร้างชุมชนเข้มแข็ง จัดระบบเครือข่ายการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนผ่านวัดและโรงเรียน ขยายโครงการเยี่ยมบ้านผู้สูอายุ และสนับสนุนงานอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุของท้องถิ่น รวมถึงสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสมัครเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุด้วย” รศ.ดร.จิราพร สรุป.

แท็ก เหงา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ