JobsDB by SEEK ได้จัดทำวิจัยสำรวจอัตราเงินเดือนทั่วเอเชีย พบอุตสาหกรรมกีฬา และสายงานบัญชี-การเงิน มีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงสุด พร้อมจำนวนความต้องการของตลาดงานที่มีประกาศงานเพิ่มมากขึ้น ขณะที่บริษัท SMEs ยังคงดึงดูดผู้สมัครงานที่มีคุณภาพ ด้วยการเสนอเงินเดือนที่สูงกว่าหรือเทียบเท่ากับองค์กรใหญ่ อีกทั้งยังพบว่าคนไทยเพิ่มเกณฑ์การพิจารณาในการหางานจากเดิมแค่ค่าตอบแทนสูงขึ้น สู่การมีสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว (Work-life Balance) เพิ่มมากขึ้นเป็นอันดับแรก เช่นเดียวกับผู้หางานทั่วโลก
คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า JobsDB ได้จัดทำรายงานเปรียบเทียบข้อมูลเงินเดือนซึ่งเป็นข้อมูลอัตราเงินเดือนที่ผู้ประกอบการระบุบนประกาศงานในฐานข้อมูลของจ๊อบส์ดีบี ระหว่างเดือน เมษายน 2565 ถึง มีนาคม 2566 และเทียบกับข้อมูลเงินเดือนในระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งการวิเคราะห์นี้ จะเป็นค่าเงินเดือนเฉลี่ย และเฉพาะงานเต็มเวลาในประเทศไทยที่จ่ายเป็นเงินบาทเท่านั้น ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ในปี 2566 อัตราเงินเดือนเฉลี่ยในประเทศไทยมีแนวโน้มคงที่ในทุกภาคธุรกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของตลาดงานสำหรับผู้ประกอบการและผู้ประกอบวิชาชีพในประเทศ โดยเริ่มจากอัตราเงินเดือนตามสายงาน โดยในสายงานบัญชีและการเงิน มีการเติบโตสูงและมีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุดเพิ่มเป็น 50,000 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 11.1% จากปี 2565 คาดว่ามีสาเหตุมาจากการเติบโตของธุรกิจฟินเทค (Financial Technology) สินทรัพย์ดิจิทัล และการควบรวมกิจการต่างๆ ทำให้มีความต้องการจ้างงานในสายนี้มากขึ้น โดยองค์กรต้องเสนอเงินเดือนที่สามารถแข่งขันได้ เพื่อดึงดูดและรักษาผู้สมัครคุณภาพสำหรับตำแหน่งเหล่านี้ ส่วนสายงานโรงแรม/ร้านอาหาร เป็นสายงานที่มีความเสี่ยงสูงสุดและเงินเดือนเฉลี่ยลดลงมากที่สุด ถึง 18.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และภาคตะวันออกนับเป็นภูมิภาคที่มีการเปลี่ยนแปลงเงินเดือนในสายงานสูงสุดถึง 31% เฉลี่ยที่ 22,500 บาท ในผู้บริหารระดับอาวุโส จากสายคอมพิวเตอร์และไอที
ส่วนการเปลี่ยนแปลงเงินเดือนตามอุตสาหกรรมพบว่า อุตสาหกรรมกีฬา เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตและเงินเดือนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 23.5% อัตราเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุดเพิ่มเป็น 52,500 บาทต่อเดือน ในขณะที่ด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวกลายเป็นอุตสาหกรรมที่พมีความเสี่ยงสูงสุดและเงินเดือนเฉลี่ยลดลงมากที่สุดถึง 38.9% โดยกรุงเทพมหานคร มีอัตราเงินเดือน เพิ่มขึ้น 65.2% เฉลี่ยที่ 37,500 บาท ในผู้บริหารระดับอาวุโส จากอุตสาหกรรมกีฬา
สำหรับอุตสาหกรรมที่เงินเดือนเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้ความสำคัญกับตำแหน่งผู้จัดการ โดยเฉพาะตำแหน่งผู้จัดการโครงการเงินเดือนเพิ่มขึ้นถึง 53.9%
เมื่อเทียบข้อมูลเชิงลึกระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และองค์กรใหญ่ พบว่า SMEs จ่ายค่าตอบแทนสูงสุดให้กับอุตสาหกรรมกีฬา เฉลี่ยที่ 52,500 บาท โดยสายงานที่จ่ายค่าตอบแทนสูงสุดคือสายงานการผลิต, คอมพิวเตอร์ ไอที และ บัญชี การเงิน เฉลี่ยเท่ากันที่ 37,500 บาท ส่วนองค์กรใหญ่จ่ายค่าตอบแทนสูงสุดให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เฉลี่ยที่ 62,500 บาท โดยสายงานที่จ่ายค่าตอบแทนสูงสุดคือสายงานการบริการและก่อสร้าง อาคาร เฉลี่ยที่ 50,000 บาท
นอกจากนี้ผลสำรวจเงินเดือนโดยแบ่งตามอุตสาหกรรมจะพบว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกและซื้อขาย สายงานคอมพิวเตอร์/ไอที มีการจ่ายผลตอบแทนระดับเจ้าหน้าที่ เช่น โปรแกรมเมอร์และนักพัฒนาซอฟท์แวร์ สูงสุดถึง 32,500 บาท อุตสาหกรรมธนาคารและการเงิน ตำแหน่งระดับเจ้าหน้าที่ในสายงาน คอมพิวเตอร์/ไอที เช่น นักวิเคราะห์ธุรกิจ Data Scientist และนักวิเคราะห์ระบบ เป็นสายงานที่จ่ายผลตอบแทนสูงสุด อุตสาหกรรมทรัพยากรบุคคล ผู้บริหารระดับอาวุโสในสายงานวิทยาศาสตร์ปรับเพิ่มเงินเดือนสูงสุด 14.3% เฉลี่ยที่ 15,001 บาท อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์/ไอที ผู้บริหารระดับสูงในสายงานธุรการ/ทรัพยากรบุคคล มีเงินเดือนสูงสุดที่ 125,000 บาท โดยตำแหน่งงานที่มีการติดตามการดำเนินธุรกิจ เช่น ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการและผู้จัดการผลิตภัณฑ์ เป็นสายงานที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุด
อุตสาหกรรมขนส่ง ผู้จัดการในสายงานบริการ มีเงินเดือนสูงสุดที่ 50,000 บาท โดยตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับการดูแลลูกค้าหลังการขาย เช่น ผู้จัดการฝ่ายบริการหลังการขายในพื้นที่ มีเงินเดือนสูงสุดในสายงาน อุตสาหกรรมการผลิต ผู้บริหารระดับสูงในสายงานบัญชี/การเงิน ปรับเพิ่มเงินเดือนสูงสุดที่ 14.3% เฉลี่ยที่ 15,001 บาท อุตสาหกรรมไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ผู้จัดการในสายงานบริการ มีเงินเดือนสูงสุดที่ 72,500 บาท โดยตำแหน่งที่ดูแลเกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมาย เช่น เจ้าหน้าที่กฎหมายอาวุโส ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส จะมีเงินเดือนสูงที่สุดในสายงาน อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ตำแหน่งผู้จัดการบัญชี/การเงิน เงินเดือนสูงสุดที่ 57,500 บาท โดยตำแหน่งที่ดูแลแผนกบัญชีของบริษัทมีเงินเดือนสูงสุดในสายงาน อุตสาหกรรมสื่อและโฆษณา ผู้จัดการในสายงานบริการ เงินเดือนสูงสุดที่ 57,500 บาท โดยตำแหน่งงานที่ดูแลประเด็นทางกฎมาย เช่น ที่ปรึกษากฎหมาย จะมีเงินเดือนสูงสุดในสายงาน
อุตสาหกรรมประกันภัย ผู้บริหารระดับสูงในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์/ไอที เงินเดือนสูงสุดที่ 125,000 บาท โดยตำแหน่งที่เกี่ยวกับการจัดการโครงการเชิงกลยุทธ์ในบริษัท เช่น ผู้จัดการโครงการเชิงกลยุทธ์ เงินเดือนสูงสุด อุตสาหกรรมที่ปรึกษา ผู้บริหารระดับสูงในสายงานธุรการ/ทรัพยากรบุคคล ได้รับเงินเดือนสูงสุดที่ 107,500 บาท โดยตำแหน่งที่จัดการพนักงานในองค์กร เช่น ผู้จัดการทรัพยากรบุคคลฝ่ายธุรการ ผู้จัดการทรัพยากรบุคคล ได้รับเงินเดือนสูงสุดในสายงาน อุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ ผู้บริหารระดับอาวุโสในสายงานบัญชี/การเงิน เงินเดือนสูงสุดที่ 72,500 บาท โดยตำแหน่งที่รับผิดชอบฝ่ายบัญชีขององค์กร เช่น ผู้จัดการฝ่ายบัญชี มีเงินเดือนสูงที่สุด อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ผู้บริหารระดับอาวุโสในสายงานธุรการ/ทรัพยากรบุคคล ปรับเพิ่มเงินเดือนมากที่สุด 47.1% เฉลี่ยที่ 20,000 บาทหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคม ผู้บริหารระดับอาวุโสในสายงานศิลปะ/สื่อ/การสื่อสาร เงินเดือนสูงสุดที่ 87,500 บาท โดยตำแหน่งงานที่ดูแลการตลาด เช่น ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผู้จัดการฝ่ายการตลาดดิจิทัล มีเงินเดือนสูงที่สุดในสายงาน
อุตสาหกรรมก่อสร้างและอาคาร ผู้บริหารระดับสูงในสายงานก่อสร้างและอาคาร เงินเดือนสูงสุดที่ 95,000 บาท ตำแหน่งที่จัดการโครงการรับจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ เช่น ผู้อำนวยการโครงการ เงินเดือนสูงที่สุดในสายงาน อุตสาหกรรมการศึกษา ผู้บริหารระดับอาวุโสในสายงานคอมพิวเตอร์/ไอที มีเงินเดือนสูงสุดที่ 87,500 บาท ตำแหน่งที่ดูแลปัญหาด้านไอทีและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ผู้จัดการผ่ายไอที ผู้จัดการฝ่ายไอซีทีและหัวหน้าทีมโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที มีเงินเดือนสูงที่สุดในสายงาน อุตสาหกรรมเครื่องจักรและวัสดุอุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับอาวุโสในสายงานการตลาด/การขาย ปรับเพิ่มเงินเดือนสูงสุด 7.4% เฉลี่ยที่ 5,000 บาท อุตสาหกรรมงานบริการ ผู้จัดการในสายงานคอมพิวเตอร์/ไอที เงินเดือนสูงสุดที่ 62,500 บาท โดยตำแหน่งงานที่จัดการคอนเทนท์ของเว็บไซต์องค์กรและเซิร์ฟเวอร์ เช่น ผู้จัดการเว็บมาสเตอร์ เงินเดือนสูงที่สุดในสายงาน อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ผู้บริหารระดับอาวุโสในสายงานธุรการ/ทรัพยากรบุคคล และการตลาด/การขาย เงินเดือนสูงสุดเมื่อเทียบกับระดับตำแหน่งงานเดียวกัน โดยมีเงินเดือนที่ 105,000 บาท ตำแหน่งงานที่ดูแลการดำเนินงานขององค์กร เช่น ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ และการค้าขายของบริษัท เช่น ผู้จัดการฝ่ายการพาณิชย์ นวัตกรรมและดูแลธุรกิจ มีเงินเดือนสูงที่สุดในสายงาน
"ซึ่งสรุปได้ว่า สายงานด้านบัญชีและการเงิน เป็นสายงานที่มีค่าตอบแทนสูง ค่าเฉลี่ยเงินเดือน รวมถึงจำนวนประกาศงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะตำแหน่งเจ้าหน้าที่ ที่มีเงินเดือนเฉลี่ย 9.1% ประกาศงาน 63.8% ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง มีเงินเดือนเฉลี่ย 2.4% ประกาศงาน 61% เป็นแนวโน้มที่ชี้ให้เห็นถึงความต้องการเป็นอย่างมากของทั้ง 2 ตำแหน่งงานนี้ จึงส่งผลให้อัตราเงินเดือนปรับสูงขึ้นท่ามกลางตลาดงานที่ท้าทาย นอกจากนี้บริษัทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอุตสาหกรรมที่ปรึกษา ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงดึงดูดผู้สมัครงานคุณภาพให้สนใจอุตสาหกรรมโดยเสนอค่าเฉลี่ยเงินเดือนที่สูงกว่าหรือเท่ากันกับองค์กรใหญ่ในหลายระดับตำแหน่ง แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ในตลาดงาน"
"อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้หางานในประเทศไทยจะพิจารณาถึงค่าตอบแทนเป็นปัจจัยแรก แต่ เทรนด์ Work Life Balance ก็เป็นอีกหนึ่งค่านิยมของการพิจารณาเลือกงานที่เหมาะสมกับตน โดยมีผู้หางานถึง 11% ที่ปฏิเสธงานเพราะประเด็นดังกล่าว และมี 9% ที่ปฏิเสธงานเพราะปัจจัยของสถานที่และเวลาในการทำงานที่ไม่ยืดหยุ่น ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า ผู้หางาน 72% ต้องการรูปแบบการทำงานแบบไฮบริด (บางวันทำงานที่บ้าน และบางวันที่สำนักงาน) และ 69% ยังต้องการทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ และ 21% ต้องการทำงานแบบชั่วคราว
ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเริ่มทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้สมัครปฏิเสธงาน เข้าใจรูปแบบการทำงาน สถานที่ทำงาน เวลาทำงานที่ต้องการ และปรับรูปแบบการจ้างงานเพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามาทำงานในองค์กรอย่างยั่งยืน" คุณดวงพร กล่าวทิ้งท้าย
สามารถดาวน์โหลด JobsDB by SEEK รายงานเงินเดือนปี 2566 ได้ที่ https://jobsdb.me/SalaryReport2023 หรือติดตามข่าวสาร กิจกรรมดีๆ ของ JobsDB by SEEK ได้ทาง https://th.jobsdb.com/th/career-advice/