ทรู ปั้น นักอุตุฯ...น้อย เปิดโลกทัศน์พร้อมรับมือภัยธรรมชาติ

ข่าวทั่วไป Thursday October 20, 2005 12:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ต.ค.--พี อาร์ โซลูชั่น
ทรู เปิดกิจกรรมห้องเรียนวิทยาศาสตร์และไอซีที ปั้นนักอุตุฯ น้อย ณ กรมอุตุนิยมวิทยา หวังเปิดโลกทัศน์เยาวชนให้เรียนรู้ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติรอบตัว พร้อมฝึกให้ศึกษาเรียนรู้การพยากรณ์อากาศ ผ่านการตรวจวัดอากาศทั้งผิวพื้น และร่วมปล่อยบอลลูนตรวจวัดอากาศชั้นบนด้วยตนเอง โดยเฉพาะศึกษาสาเหตุแผ่นดินไหว การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก คลื่นสึนามิ เตรียมพร้อมรับมือหากเกิดภัยธรรมชาติ
นางสาวเสาวนีย์ ลิมมานนท์ รองผู้อำนวยการ หัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กรและส่งเสริมกิจกรรมสาธารณะ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำการให้บริการสื่อสารครบวงจรตอบสนองตรงใจทุกไลฟ์สไตล์ เปิดเผยว่า ทรูจัดกิจกรรมห้องเรียนวิทยาศาสตร์ และค่ายไอซีที สร้างนักอุตุฯ..น้อย ระหว่างวันที่ 20 — 21 ตุลาคม 2548 โดยร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา จัดการศึกษาเรียนรู้เรื่องการพยากรณ์อากาศ และภัยธรรมชาติอื่นๆ เช่น แผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของสภาพดินฟ้าอากาศ ภูมิศาสตร์ และเปิดโอกาสให้เยาวชนสัมผัสประสบการณ์โดยตรง สามารถพยากรณ์ หรือทำนายสภาพดินฟ้าอากาศจากข้อมูลที่ได้ศึกษาด้วยตนเอง ผ่านการทดลองปฏิบัติ ศึกษาค้นคว้า เพื่อให้เกิดโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
“ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด ลม เมฆ ฝน พายุ หรือแม้แต่แผ่นดินไหว สึนามิ ล้วนสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และสภาพทางภูมิศาสตร์ของโลก ซึ่งมีผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้น การนำเยาวชนซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต มาร่วมศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ตลอดจนสภาพทางภูมิศาสตร์ต่างๆ จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบตัว สามารถปรับตัว และช่วยกันบรรเทาหรือป้องกันแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ได้ โดยอาศัยทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เช่น การวัด การคำนวณ การสังเกต การคาดคะเน เป็นต้น “
ค่ายห้องเรียนวิทยาศาสตร์ — ไอซีที ของทรู เพื่อสร้าง “นักอุตุฯ...น้อย” แบ่งออกเป็น 2 รุ่น แต่ละรุ่นจะเป็นตัวแทนเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 ในโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์นำร่อง และห้องเรียนไอซีทีนำร่อง ซึ่งทรูให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง รวม 35 โรงเรียนๆ ละ 5 คน รวมจำนวน 175 คน และเด็กนักเรียนที่สนใจทั่วไปอีก 25 คน รวม 200 คน โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 — 21 ตุลาคม ศกนี้ ณ กรมอุตุนิยมวิทยา โดยจะแบ่งกิจกรรมเป็นฐานการเรียนรู้ และมีวิทยากรประจำฐานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกทดลอง ทดสอบ และปฏิบัติจริงด้วยตนเอง รวมทั้งมีกิจกรรมสันทนาการ เพื่อเสริมการเรียนรู้ให้สนุกสนานยิ่งขึ้น
นักอุตุฯ...น้อย จะได้เห็นการตรวจวัดอากาศผิวพื้น วัดปริมาณน้ำฝน ทิศทางและความเร็วของลม รวมทั้งการตรวจอากาศชั้นบน ทิศทางและความเร็วของลม และยังได้ร่วมปล่อยบอลลูนตรวจอากาศ และติดตามบอลลูนจากเครื่องมือต่างๆ โดยมีวิทยากรจากกรมอุตุนิยมวิทยาให้ความรู้และแนะนำอย่างใกล้ชิด ยิ่งไปกว่านั้น เด็กๆ จะได้รับฟังการบรรยายความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิ รวมทั้งการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และผลกระทบที่เกิดขึ้น ตลอดจนการปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ
“ขณะนี้มีข่าวปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติที่รุนแรงเกิดขึ้นทั่วโลก มีการตั้งคำถามเสมอว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะเตรียมการรับมือเบื้องต้นได้อย่างไร การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะมีส่วนช่วยให้เยาวชนได้มีโอกาสการเรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง ทำให้สามารถพยากรณ์หรือทำนายสภาพดินฟ้าอากาศจากข้อมูลที่ได้ศึกษาด้วยตนเองแล้ว ยังเปิดโอกาสให้กล้าคิด กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ และหากเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ จะได้ไม่ตื่นตระหนกและสามารถช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญ หากเยาวชนซึ่งจะเป็นอนาคตสำคัญของชาติได้เรียนรู้และติดตามเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของเปลือกโลกอย่างใกล้ชิด อาจเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานด้านอุตุนิยมวิทยาที่จะพยากรณ์ หรือทำนายสภาวะธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ และมีระยะเวลานานพอที่จะช่วยป้องกันประชาชนจากเหตุภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเราก็หวังว่า นักอุตุฯ ...น้อย ๆ เหล่านี้ น่าจะทำได้” นางสาวเสาวนีย์กล่าวสรุป
แผ่นดินไหว
แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนตัวโดยแบบฉับพลันของเปลือกโลก ส่วนใหญ่แผ่นดินไหวมักเกิดตรงบริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลกเป็นแนวแผ่นดินไหวของโลก การเคลื่อนตัวดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากชั้นหินหลอมละลายที่อยู่ภายใต้เปลือกโลกได้รับพลังงานความร้อนจากแกนโลก และผลักดันให้เปลือกโลกตอนบนลอยตัวตลอดเวลา ทำให้เปลือกโลกแต่ละชิ้นมีการเคลื่อนที่ในทิศทางต่างๆ กัน พร้อมกับสะสมพลังงานไว้ภายใน บริเวณขอบของชิ้นเปลือกโลกจึงเป็นส่วนที่ชนกัน เสียดสีกัน หรือแยกจากกัน หากบริเวณชิ้นของเปลือกโลกใดๆ ผ่านหรืออยู่ใกล้กับประเทศใด ประเทศนั้นก็จะมีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหวสูง เช่นประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น นอกจากนั้นพลังงานที่สะสมในเปลือกโลกถูกส่งผ่านไปยังเปลือกโลกพื้นของทวีป ตรงบริเวณรอยร้าวของหินใต้พื้นโลกหรือที่เรียกว่า “รอยเลื่อน” เมื่อระนาบรอยร้าวที่ประกบกันอยู่ได้รับแรงอัดมากๆ ก็จะทำให้รอยเลื่อนดังกล่าวเคลื่อนตัวอย่างฉับพลัน เกิดเป็นแผ่นดินไหวเช่นเดียวกัน
ขนาด (ริคเตอร์) ลักษณะที่เกิด
1.0 — 2.9 เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนรู้สึกถึงการสั่นไหวบางครั้ง รู้สึกเวียนศรีษะ
3.0 — 3.9 เกิดการสั่นไหวเล็กน้อย ผู้คนที่อยู่ในอาคารรู้สึกเหมือนรถไฟวิ่งผ่าน
4.0 — 4.9 เกิดการสั่นไหวปานกลาง ผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารและนอกอาคารรู้สึกถึง
การสั่นสะเทือน วัตถุห้อยแขวนแกว่งไกว
5.0 — 5.9 เกิดการสั่นไหวรุนแรงเป็นบริเวณกว้าง เครื่องเรือนและวัตถุมีการเคลื่อนที่
6.0 — 6.9 เกิดการสั่นไหวรุนแรงมาก อาคารเริ่มเสียหาย พังทลาย
7.0 ขึ้นไป เกิดการสั่นไหวร้ายแรง อาคารสิ่งก่อสร้างมีความเสียหายอย่างมาก แผ่นดินแยก วัตถุที่อยู่บนพื้นถูกเหวี่ยงกระเด็น
ข้อปฏิบัติตัวในการเกิดแผ่นดินไหว
ก่อนการเกิดแผ่นดินไหว
1. ควรมีไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย และกระเป๋ายาเตรียมไว้ในบ้าน และให้ทุกคนทราบว่าอยู่ที่ไหน
2. ศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
3. ควรมีเครื่องมือดับเพลิงไว้ในบ้าน เช่น เครื่องดับเพลิง ถุงทราย เป็นต้น
4. ควรทราบตำแหน่งของวาล์วปิดน้ำ วาล์วปิดก๊าซ สะพานไฟฟ้า สำหรับตัดกระแสไฟฟ้า
5. อย่าวางสิ่งของหนักบนชั้น หรือหิ้งสูง ๆ เมื่อแผ่นดินไหวอาจตกลงมาเป็นอันตรายได้
6. ผูกเครื่องใช้หนัก ๆ ให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน
7. ควรมีการวางแผนเรื่องจุดนัดหมาย ในกรณีที่ต้องพลัดพรากจากกัน เพื่อมารวมกันอีกครั้ง ในภายหลัง
8. สร้างอาคารบ้านเรือนให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว
ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว
1. อย่าตื่นตกใจ พยายามควบคุมสติอยู่อย่างสงบ ถ้าท่านอยู่ในบ้านก็ให้อยู่ในบ้าน ถ้าท่านอยู่นอกบ้านก็ให้อยู่นอกบ้าน เพราะส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บเพราะวิ่งเข้าออกจากบ้าน
2. ถ้าอยู่ในบ้านให้ยืนหรือหมอบอยู่ในส่วนของบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรง ที่สามารถรับน้ำหนัก ได้มาก และให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง และหน้าต่าง
3. หากอยู่ในอาคารสูง ควรตั้งสติให้มั่น และรีบออกจากอาคารโดยเร็ว หนีให้ห่างจากสิ่งที่จะล้มทับได้
4. ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า และสิ่งห้อยแขวนต่าง ๆ ที่ปลอดภัยภายนอกคือที่โล่งแจ้ง
5. อย่าใช้ เทียน ไม้ขีดไฟ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดเปลวหรือประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วอยู่บริเวณนั้น
6. ถ้าท่านกำลังขับรถให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ จนกระทั่งการสั่นสะเทือนหยุด
7. ห้ามใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาดขณะเกิดแผ่นดินไหว
8. หากอยู่ชายหาดให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง
หลังเกิดแผ่นดินไหว
1. ควรตรวจตัวเองและคนข้างเคียงว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ให้ทำการปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อน
2. ควรรีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวตามมาอาคารอาจพังทลายได้
3. ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพราะอาจมีเศษแก้ว หรือวัสดุแหลมคมอื่น ๆ และสิ่งหักพังแทง
4. ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส ถ้าแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊ส ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟ
หรือก่อไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว
5. ตรวจสอบว่า แก๊สรั่ว ด้วยการดมกลิ่นเท่านั้น ถ้าได้กลิ่นให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน
6. ให้ออกจากบริเวณที่สายไฟขาด และวัสดุสายไฟพาดถึง
7. เปิดวิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉิน อย่าใช้โทรศัพท์ นอกจากจำเป็นจริง ๆ
8. สำรวจดูความเสียหายของท่อส้วม และท่อน้ำทิ้งก่อนใช้
9. อย่าเป็นไทยมุงหรือเข้าไปในเขตที่มีความเสียหายสูง หรืออาคารพัง
10. อย่าแพร่ข่าวลือ
คลื่นสึนามิ (Tsunami)
เป็นคลื่นทะเลที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติต่อชีวิตและทรัพย์สินของมุษย์เป็นอันมาก เป็นศัพท์ภาษาญี่ปุ่น “TSU” หมายถึงอ่าวหรือท่าเรือ “NAMI” หมายถึงคลื่น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเคลื่อนตัวของพื้นทะเล ในแนวดิ่งจมตัวลง ตรงแนวรอยเลื่อน สัมพันธ์กันกับการเกิดแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมากในทะลึกและมีขนาดเล็กๆ ไม่สามารถสังเกตได้ขณะอยู่ในทะเลเปิด ต่อเมื่อเดินทางเข้าใกล้ชายฝั่งตื้นๆ ความสูงของคลื่นจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตามสภาพภูมิศาสตร์ จนมีผลกระทบร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีผลต่ออ่าวที่มีรูปลักษณะตัววี (V) และเปิดไปสู่มหาสมุทร
มาตรการป้องกันตนเองจากคลื่นสึนามิอย่างงง่ายๆ
1. แผ่นดินไหวบางกรณีทำให้เกิดคลื่นสึนามิ ดังนั้นหากได้ยินว่าเกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทร หรือเกิดแผ่นดินไหวบริเวณชายฝั่ง ให้เตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้โดยด่วน
2. สังเกตปรากฏการณ์ของชายฝั่ง หากทะเลมีการลดระดับของน้ำลงมากหลังการเกิดแผ่นดินไหว ให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้ ให้อพยพคนในครอบครัว สัตว์เลี้ยง ให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง และอยู่ในที่ดอนหรือที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง
3. ถ้าอยู่ในเรือซึ่งจอดอยู่ในท่าเรือหรืออ่าว ให้รีบนำเรือออกไปกลางทะเล เมื่อทราบว่าจะเกิดคลื่นสึนามิพัดเข้าหาฝั่ง เพราะคลื่นสึนามิที่อยู่ไกลชายฝั่งมากๆ จะมีขนาดเล็ก
4. คลื่นสึนามิอาจเกิดขึ้นได้หลายระลอกจากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งเดียว เนื่องจากมีการแกว่งไปมาของน้ำทะเล ดังนั้นควรรอสักระยะเวลาหนึ่งและเจ้าหน้าที่ประกาศว่าปลอดภัย จึงสามารถลงไปชายหาดได้
5. ติดตามการเสนอข่าวของทางราชการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
6. หากที่พักอาศัยอยู่ใกล้ชายหาด ควรจัดทำเขื่อน กำแพง ปลูกต้นไม้ วางวัสดุ เพื่อลดแรงปะทะของน้ำทะเล และก่อสร้างที่พักอาศัยให้มั่นคงแข็งแรง ในบริเวณย่านที่มีความเสี่ยงภัยในเรื่องสึนามิ
7. หลีกเลี่ยงการก่อสร้างในย่านชายฝั่งที่มีความเสี่ยงภัยสูง
8. วางแผนในการซ้อมรับภัยสึนามิ เช่นกำหนดสถานที่ในการอพยพ แหล่งสะสมน้ำสะอาด
9. จัดวางผังเมืองให้เหมาะสม บริเวณแหล่งที่อยู่อาศัยควรมีระยะห่างจากฝั่ง
10.ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ประชาชนในเรื่องการป้องกัน การบรรเทาภัยจากคลื่นสึนามิ และแผ่นดินไหว และมีการฝึกซ้อมรับภัยสึนามิเป็นครั้งคราว
11.คลื่นสึนามิที่บริเวณหนึ่งอาจมีขนาดเล็ก แต่อีกบริเวณหนึ่งอาจมีขนาดใหญ่มาก ดังนั้นเมื่อได้ยินข่าวการเกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็กในสถานที่หนึ่ง ก็จงอย่าประมาทในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์
12.อย่าลงไปชายหาดเพื่อดูคลื่นสึนามิ เพราะเมื่อเห็นคลื่นแล้วก็ใกล้เกินกว่าที่จะวิ่งหลบหนีได้ทัน
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ทรู
คุณพิมลพรรณ / คุณณวนุช /คุณน้ำผึ้ง
โทรศัพท์ 0-2643 — 2463 / 02-699-2772
บริษัท พี อาร์ โซลูชั่น จำกัด
คุณประภาส / คุณจิตฤทัย / คุณสิทธิกร
โทรศัพท์ 0-2254 2862-3 , 0-1827-7354 , 0-1613-1865--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ