เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา(มบส.)ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(ทปอ.มรภ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน "หลักสูตร Train the Trainer หลักสูตรอบรมพัฒนาสมรรถนะครูมืออาชีพ"ภายใต้ โครงการพัฒนาสมรรถนะครูสู่มืออาชีพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ว่า โครงการนี้เป็นโครงการความร่วมมือของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ภายใต้พันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะครูด้านคุณธรรม จริยธรรม การปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู มีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตามแนวทางชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC) และมีการพัฒนาตนเอง เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA) สอดคล้องกับสมรรถนะวิชาชีพ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษาครอบคลุมทั้งประเทศแน่นอน
ด้านดร.เพ็ญพร ทองคำสุก คณบดีคณะครุศาสตร์ มบส. กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เพื่อพัฒนาและปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครูให้มีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ รวมทั้งนิเทศ ติดตาม ให้คำปรึกษาแนะนำ ให้ผู้เข้ารับการพัฒนาจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งให้มีการให้คำปรึกษา แนะนำผู้เข้ารับการพัฒนาเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงในการพัฒนางาน ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามแนวทางชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และสอดคล้องกับสมรรถนะวิชาชีพเพื่อให้ผู้เข้ารับการพัฒนได้จัดการเรียนรู้ให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และที่สำคัญผู้เรียนเรียนตามที่หลักสูตรกำหนด
ดร.เพ็ญพร กล่าวต่อว่า การพัฒนาสมรรถนะครูมืออาชีพยังป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนาครู ซึ่งกล่าวถึงการผลิตและพัฒนาครูให้มีอัตลักษณ์ มีสมรรถนะเป็นเลิศ มุ่งสู่ความก้าวหน้าทางวิชาชีพ และสมบูรณ์ด้วยคุณลักษณะ 4 ประการคือรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะ และสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน 5 ประการ คือ ความสามารถในการสื่อสารความสามารถด้านการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งสมรรถนะดังกล่าว มีความสำคัญในการดำเนินการพัฒนาผู้เรียนของครูผู้สอนโดยสามารถนำไปปรับใช้ ในการสร้างรูปแบบกระบวนการและกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ของตนเองได้ เพื่อปลูกฝังและพัฒนาผู้เรียน ให้เป็นผู้ที่มีความรู้คู่คุณธรรม มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และมีสมรรถนะสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมด้วย