คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม DPU เตรียมปรับหลักสูตร ปี 67 เลือกเรียนวิชาเสริมได้หลากหลายตามใจชอบ เน้นเพิ่ม Multi Skill เสริมแกร่งให้กับ นศ. รองรับ Second Job เทรนด์การทำงานยุคใหม่
นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า หลังจากผ่านสถานการณ์โควิด -19 ทำให้ทุกคนเรียนรู้และมีประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น จึงทำให้เกิดการวางแผนการทำงานและอาชีพอย่างรอบคอบ และเพื่อป้องกันการซ้ำรอยสถานการณ์เดิม ทุกคนจึงต้องมองหาอาชีพสำรองหรืออาชีพเสริม จนทำให้ Second Job กลายเป็นเทรนด์การทำงานและอาชีพในอนาคตที่ทุกคนต้องมี ดังนั้น เพื่อรองรับเทรนด์ดังกล่าวทางคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม DPU ซึ่งขณะนี้เปิดสอนอยู่ 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ สาขาวิชาการโรงแรมและธุรกิจอาหาร เดิมนำ Service Mind และ Skill ด้านภาษา มาเป็น Core Skill หลัก แต่ในปีนี้จะเน้นเพิ่ม Multi Skill หรือทักษะที่หลากหลายเสริมแกร่งให้นักศึกษา เพื่อป้องกันการขาดรายได้หรือตกงานหากเกิดผลกระทบกับอาชีพหลัก นักศึกษาจะสามารถนำทักษะดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับงานได้หลากหลายอาชีพ หรือนำไปต่อยอดอาชีพสำรองในอนาคตได้ทันที
คณบดีคณะการท่องเที่ยวฯ DPU กล่าวเพิ่มเติมว่า งานด้านการบริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวล้วนใช้ Skill เดียวกัน คือ Service Mind และ Skill ด้านภาษา ทางคณะจึงออกแบบหลักสูตรการเรียนแบบใหม่ให้ตรงความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปและความต้องการของนักศึกษามากขึ้น โดยรวบรวมวิชาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาปรับเป็นการเลือกเรียนวิชาเอกใดเอกหนึ่ง อย่างเช่น เลือกเรียนวิชาเอกการโรงแรมตามกำหนด ก็สามารถเลือกวิชารองเป็นวิชาอื่นได้ เช่น มัคคุเทศก์ เรียกว่าเรียนแบบ "บุฟเฟ่ต์" ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาเป็นผู้เลือกเรียนตามความต้องการของตนเอง และสามารถเพิ่ม Skill ที่ต้องการได้
ขณะเดียวกันทางคณะฯ ยังขับเคลื่อนให้นักศึกษามี Skill หลัก โดยเน้นสร้างแบบฉบับที่ดี เรื่องงานบริการ (Service) รวมถึงบุคลิกภาพ การแต่งกายและการสื่อสาร และมี Multi Skill เพื่อรองรับงานได้ทั้งโรงแรมส่วนหน้าส่วนหลัง งานประชาสัมพันธ์ เลขานุการ ผู้ประกาศ พิธีกร ดารา นักแสดง Influencer งานสาย HR ฯลฯ ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยโควิด-19 นักศึกษาของเราจะมี Skill ที่รอบด้านฝังอยู่ใน DNA สามารถทำงานได้หลากหลายอาชีพและอยู่รอดได้ในทุกวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญ โดยอาจารย์ในคณะช่วยกันออกแบบหลักสูตรการสอน เพื่อปั้นนักศึกษาที่จบออกไปมีคาแรคเตอร์ที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด สำหรับหลักสูตรดังกล่าวจะเริ่มเปิดสอนในปีการศึกษา 2567
"ภายหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายลง การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ตลาดแรงงานด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมจึงขาดแคลนบุคลากรจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันมีเด็กสนใจสมัครเรียนคณะท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจำนวนมากเช่นเดียวกัน แต่ปัญหาที่พบคือผู้ปกครองอาจยังไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าสายอาชีพนี้ไม่มั่นคงหากเกิดสถานการณ์ซ้ำรอยเดิม
ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครอง ทางมหาวิทยาลัยจึงเดินสายเข้าพบผู้ประกอบการรวมถึงสมาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามุมมองและขอความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการแรงงานรวมถึงการเติบโตและความมั่นคงในสายอาชีพดังกล่าว โดยจะเร่งทำประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ในแพลตฟอร์มของคณะและมหาวิทยาลัย โดยสามารถติดตามได้ที่ https://tourism.dpu.ac.th/
สุดท้ายนี้โดยส่วนตัวมองว่าสายอาชีพนี้ หากเด็กมีความสามารถและความขยั่นหมั่นเพียรจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดแน่นอน" คณบดีคณะการท่องเที่ยวฯ DPU กล่าวในตอนท้าย