สกสว. ร่วมกับ รัฐสภา สอวช. และ 9 PMU จัดการแสดงผลงานวิจัยตลอด 4 ปี แห่งการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พร้อมเสวนา Policy Forum ภายใต้ 6 ธีมสำคัญ เพื่อสนับสนุนการทำงานในกระบวนการนิติบัญญัติ สู่เป้าหมายการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศได้ด้วย ววน.
เนื่องด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าด้วยการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อสถาบันนิติบัญญัติ โดยความร่วมมือนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านข้อมูล ข้อค้นพบ และองค์ความรู้จากงานวิจัยเข้าไปในกระบวนการนิติบัญญัติ ทาง สกสว. พร้อมด้วย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ 9 หน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit : PMU) จึงได้จัดงานนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเสวนา Policy Forum เพื่อสนับสนุนการทำงานในกระบวนการนิติบัญญัติ ให้สามารถนำองค์ความรู้ด้าน ววน. ไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมหารือถึงแนวทางในการกำหนดทิศทางก้าวต่อไปของประเทศสู่การขับเคลื่อนไทยด้วย ววน. ได้อย่างมั่งคงและยั่งยืน ระหว่างวันที่ 3 - 4 ตุลาคม 2566 ณ อาคารรัฐสภา เกียกกาย
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การวิจัยถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาในทุกภาคส่วนของประเทศ ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่และบทบาทสำคัญในการตรากฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ และเกิดความสอดคล้องและเหมาะสมกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ดังนั้น การวิจัยซึ่งถือเป็นองค์ความรู้ที่ผ่านกระบวนการศึกษา กลั่นกรองแล้ว ด้วยระเบียบวิธีที่น่าเชื่อถือ ผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์จากคณาจารย์ นักวิชาการ ผู้มีความรู้และประสบการณ์ตรง จนได้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง ชัดเจน ซึ่งผลการวิจัยสามารถนำมาปรับใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานในกระบวนการนิติบัญญัติได้เป็นอย่างดี
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า จากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าด้วยการนำผลงานทางวิชาการและผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ แล้วนั้น ทาง สกสว. มีบทบาทหน้าที่เป็นหน่วยงานบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีหน้าที่ในการ 1) จัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) 2) จัดสรรงบประมาณจากกองทุน ววน. ให้แก่หน่วยบริหารและจัดการทุน 9 แห่ง และหน่วยงานในระบบ ววน. ทั้งในและนอกกระทรวง อว. รวมถึงสถาบันอุดมศึกษากว่า 180 แห่ง 3) เสริมพลังและขับเคลื่อนระบบ ววน. 4) สร้างระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และ 5) ติดตามประเมินผลด้าน ววน. ของประเทศ
โดยมีการจัดสรรงบประมาณตามทิศทางและจุดมุ่งเน้นในแผนด้าน ววน. ของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 ใช้ ววน. ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และมีศักยภาพเพียงพอในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมรองรับความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ภายใต้การดำเนินงาน 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ "ยุทธศาสตร์ที่ 1" การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ "ยุทธศาสตร์ที่ 2" การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม "ยุทธศาสตร์ที่ 3" การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้า และ "ยุทธศาสตร์ที่ 4" การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านกลไกการทำงานร่วมกับ PMU 9 แห่ง ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศสช.)
อย่างไรก็ตาม 4 ปีที่ผ่านมานี้ กำลังเป็นช่วงเก็บดอกออกผลจากการลงทุนที่ผ่านมา มีพระราชบัญญัติที่สนับสนุนการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ มีการปลดล็อคข้อจำกัด และเพิ่มมาตรการ กลไกต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำผลงานใช้ประโยชน์ในวงกว้างและสร้างผลกระทบต่อประเทศ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการสร้างองคาพยพและองค์ความรู้ด้าน ววน. เพื่อตอบโจทย์การทำงานร่วมกับภาคนโยบาย เอกชน ประชาสังคม ชุมชน/พื้นที่ และสาธารณชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ มุ่งเป้าหมายให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากรายได้ปานกลาง และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ภายในปี พ.ศ.2580
"ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านข้อมูลและองค์ความรู้จากงานวิจัยเข้าไปสนับสนุนในกระบวนการนิติบัญญัติ เพื่อให้เกิดการพัฒนางานและตอบโจทย์การทำงานร่วมกับภาคนโยบาย ตั้งแต่การเข้าถึงความต้องการในระดับพื้นที่ สู่การสะท้อนถึงมิติของผลลัพธ์และผลกระทบในระดับประเทศ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้ถูกนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจและช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถขับเคลื่อนประเทศนี้ได้ด้วยนวัตกรรมอันจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง" ผอ.สกสว. กล่าวสรุป
ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดโซนนิทรรศการแสดงผลงานภายใต้กองทุน ววน. การเสวนาห้องย่อยภายใต้ 6 ธีมหลัก คือ ธีม 1: "ปาก ท้อง ดี" ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างเศรษฐกิจฐานราก ธีม 2: เกษตรและอาหาร พลังเพื่ออนาคตไทย ธีม 3: สิ่งแวดล้อมดี "ดังและร้อน: ลด และ รับ กับภาวะโลกรวน" ธีม 4: สุขภาพดี "ก้าวที่มั่นคงของสุขภาพคนไทยด้วย ววน." ธีม 5: สูงวัยมีดี มีพฤฒิพลัง และ ธีม 6: สร้างกำลังคนดี ประเทศมีอนาคต "การพัฒนากำลังคนด้าน ววน. และการสร้างกำลังคนทักษะสูง" เพื่อให้เห็นถึงการตอบโจทย์ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ที่ประเทศกำลังพัฒนาหรือขับเคลื่อน โดยในส่วนของการจัดนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมของกองทุน ววน. จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคม 2566 บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา เกียกกาย
"สกสว. เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน"