โรคซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดต่อจากผู้มีเชื้อแบคทีเรียทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) อาทิ การจูบ สัมผัสสารคัดหลั่ง รวมถึงสามารถติดต่อได้จากแม่สู่ลูกน้อยในครรภ์ได้ด้วย
แม้ว่าโรคซิฟิลิส จะสามารถรักษาให้หายได้ แต่หลายคนที่ติดเชื้ออาจไม่มีอาการแสดง จึงทำให้ไม่รู้ว่าตนติดเชื้อดังกล่าวบางรายกว่าจะรู้ก็อยู่ในระยะที่รุนแรงแล้ว ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจระยะของโรคซิฟิลิส เพื่อสังเกตตนเองก่อนถึงระยะรุนแรง
ระยะของโรคซิฟิลิส แบ่งออกเป็น 4 ระยะ
โรคซิฟิลิส สามารถพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง โดยทั่วไปอาการของโรคซิฟิลิสทั้งเพศหญิงและเพศชายจะคล้ายกัน โดยแบ่งอาการตามระยะดังนี้
- ระยะที่ 1 มีตุ่มแผลเล็กๆ บริเวณที่เกิดการติดเชื้อ โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ
- ระยะที่ 2 มีตุ่มน้ำขึ้นตามร่างกายปวดศีรษะ มีไข้ น้ำหนักลดลง ผมร่วง
- ระยะที่3 ระยะสงบหรือระยะแฝง ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงแต่ยังมีเชื้ออยู่ในร่างกาย
- ระยะที่ 4เป็นระยะที่รุนแรงอาจส่งผลแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด สมอง การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกัน
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
- ในสตรีที่ต้องการมีบุตรควรตรวจหาเชื้อซิฟิลิสก่อนตั้งครรภ์
- การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
- การตรวจสุขภาพประจำปี
- ดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายเสมอ
โรคซิฟิลิสเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากคุณมีอาการเข้าข่ายหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว ไม่ต้องเขินอาย ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรับการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนที่เชื้อจะแพร่กระจายรุนแรงจนเกิดอันตรายถึงชีวิต
บทความโดย :แพทย์หญิงเบญจวรรณ ลิมป์วนัสพงศ์ แพทย์ชำนาญพิเศษ สูติศาสตร์นรีเวชวิทยาการผ่าตัดและวินิจฉัยผ่านกล้องทางนรีเวช ศูนย์สูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ชั้น 4 โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล(WMC)