สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัด "พิธีมอบรางวัลนวัตกรรม ประจำปี 2566" เนื่องใน "วันนวัตกรรมแห่งชาติ" ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม ในฐานะ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" พร้อมเชิดชูเกียรติและเผยแพร่ผลงานของนักนวัตกรไทยผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่นเป็นประโยชน์ต่อองค์กร สังคม และประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ประธานกรรมการ คณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นวัตกรรมหลายอย่างถือเป็นจุดเปลี่ยนของโลก ทั้งระบบการผลิต อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจการค้าขายของโลก ซึ่งขณะนี้ถือเป็นยุคที่นวัตกรรมมีการเติบโตและพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ตนเชื่ออย่างยิ่งว่าปัญญาประดิษฐ์จะใช้เวลาน้อยมากที่ให้ผู้ใช้งานปรับตัว เพราะจะถูกพัฒนามีความฉลาด เข้าถึง และสามารถถูกนำมาใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น รวมถึงปริมาณของคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะของการเขียนโปรแกรมโค้ดดิ้งต่างๆ สามารถต่อยอดจากระบบที่ถูกสร้างไว้ในรูปแบบที่เปิดให้ผู้พัฒนาเข้าไปปรับแต่งโค้ดได้ เกิดการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง สร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจได้รวดเร็ว
"นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์มีนัยยะผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการศึกษาของประเทศ ดังนั้น การจัดพิธีมอบรางวัลสุดยอดนวัตกรรม ให้แก่นักนวัตกรไทยที่ผลิตหรือคิดค้นผลงานนวัตกรรมที่มีคุณค่าเชิงพาณิชย์ ส่งผลดีต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประโยชน์ใช้สอย อันนำไปสู่การใช้ประโยชน์ของนวัตกรรมให้เป็นที่รู้จักและสนใจกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะมีผลในการจูงใจให้ทุกภาคส่วนของประเทศไทย เกิดความสนใจที่จะดำเนินงานโดยมีความเป็นนวัตกรรมอยู่ในกระบวนการอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา" รศ.นพ.สรนิต กล่าว
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในปี 2566 - 2570 NIA ได้เปลี่ยนบทบาทจากสะพานเชื่อมสู่การเป็น "ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)" ผ่านการดำเนินงานภายใต้ 7 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) สร้างและยกระดับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (IBEs) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อพัฒนาและขยายผลโครงการสำคัญใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) Food Tech & Ag Tech 2) Travel Tech 3) Med Tech 4) Climate Tech และ 5) Soft power 2) ส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิดและทำให้ระบบนวัตกรรมไทยเปิดกว้างมากขึ้น โดยเน้นการให้ทุนที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกับแหล่งเงินทุนอื่น 3) ส่งเสริมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค การพัฒนาย่านนวัตกรรม เมืองนวัตกรรม และระเบียงนวัตกรรมในภูมิภาค 4) เป็นศูนย์กลางการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ 5) ส่งเสริมการตลาดนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในลักษณะของ Business Brotherhood ให้บริษัทขนาดใหญ่มาสนับสนุนการขยายธุรกิจของ IBEs 6) สร้างความตระหนักและการรับรู้ความสำคัญของนวัตกรรมในทุกภาคส่วน ผ่านโครงการ Innovation Thailand การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรม งาน SITE ฯลฯ เพื่อสร้างแนวร่วมในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมไทย และ 7) พัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นทำงานแบบ Cross Functional ลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยากซับซ้อน
สำหรับการจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติในปี 2566 แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเศรษฐกิจ 2) ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม 3) ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ 4) ด้านสื่อและการสื่อสาร และ 5) ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น โดยในปีนี้มีผู้ที่สนใจส่งผลงานนวัตกรรมเข้าประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ จำนวน 347 ผลงาน และผลงานประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (TIA) ระดับเยาวชนจำนวน 453 ผลงาน
สำหรับผลการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566 มีดังนี้
- รางวัลชนะเลิศประเภทวิสาหกิจขนาดกลาง ได้แก่ ผลงาน: หม้อแปลง BCG & โลว์คาร์บอน โดย บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด
- รางวัลชนะเลิศประเภทวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อย ได้แก่ ผลงาน: HY-N นวัตกรรมไบโอพอลิเมอร์ ระบบนำส่งสาร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเวชสำอาง ยา วัคซีน โดย บริษัท แนบโซลูท จำกัด
- รางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ผลงาน: แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนจากแกลบและขยะโซล่าร์เซลล์ โดย โรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- รางวัลชนะเลิศประเภทหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ ผลงาน: ระบบบำบัดน้ำเสียวงจรไฟฟ้าชีวภาพ โดย บริษัท อินโน กรีน เทค จำกัด
- รางวัลชนะเลิศประเภทองค์กรเพื่อสังคมและชุมชน ได้แก่ ผลงาน: เตียงสนามกระดาษ SCGP สำหรับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โดย มูลนิธิเอสซีจีร่วมกับ SCGP
- รางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลงาน: ชุดปลูกผักปลอดสารพิษด้วยตัวเองเพื่อคนในเมือง โดย บริษัท ดู๊ดแพลนต์ จำกัด
- รางวัลชนะเลิศประเภทการออกแบบบริการ ได้แก่ ผลงาน: แมกซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ คอนเนค โดยแอพพลิเคชั่นวชิระแอทโฮม โดย บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน)
- รางวัลชนะเลิศประเภทผลงานสื่อและการสื่อสาร ได้แก่ ผลงาน: ต่อยอด แสงหลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เชียงใหม่ โดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- รางวัลเชิดชูเกียรติประเภทผู้สื่อสารนวัตกรรม ระดับบุคคลธรรมดา ได้แก่ คุณสรานี สงวนเรือง (เฟื่องลดา)
- รางวัลเชิดชูเกียรติประเภทผู้สื่อสารนวัตกรรม ระดับนิติบุคคล ได้แก่ แบไต๋ (Beartai)
- รางวัลดีเด่น ประเภทองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)
- รางวัลเกียรติคุณ ประเภทองค์กรภาครัฐ และประชาสังคม ได้แก่ กรมสุขภาพจิต
- รางวัลเกียรติคุณ ประเภทองค์กรรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ผลงานประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (TIA) ประจำปี 2566
- รางวัลชนะเลิศ ผลงานแพลตฟอร์มเพื่อช่วยคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือดจากกราฟคลื่นไฟฟ้า หัวใจด้วยปัญญาประดิษฐ์ จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ ผลงาน SVMR ตู้ยาเพื่อแจ้งเตือนและดูแลผู้สูงอายุ จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และ ผลงานบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพทนต่อน้ำจากเปลือกทุเรียนและชะลอการเติบโตของแบคทีเรียด้วยสารสกัดจากสมุนไพรไทยพร้อมตัวบ่งชี้การเน่าเสียของอาหารสดจากดอกต้องติ่ง จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์
- รางวัลชนะเลิศ ผลงานแพลตฟอร์มเพื่อช่วยคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือดจากกราฟคลื่นไฟฟ้า หัวใจด้วยปัญญาประดิษฐ์ จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผลงานบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพทนต่อน้ำจากเปลือกทุเรียนและชะลอการเติบโตของแบคทีเรียด้วยสารสกัดจากสมุนไพรไทยพร้อมตัวบ่งชี้การเน่าเสียของอาหารสดจากดอกต้องติ่ง จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์
อย่างไรก็ตาม NIA ยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และประชาชนในทุกมิติ ผ่านการผลักดันนโยบายและกิจกรรมต่างๆ และยังคงจะมีการมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับผู้พัฒนานวัตกรรมที่ดีเด่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมและเป็นการยกระดับขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของไทยให้พร้อมก้าวสู่การเป็น "ชาตินวัตกรรม" ในอนาคต