วิธีทำ Circular Design ด้วยสูตรลัด 5 x 6 และการสร้างคุณค่าให้งานออกแบบ ในวันที่ทรัพยากรใกล้หมดโลก

ข่าวบันเทิง Tuesday October 10, 2023 14:27 —ThaiPR.net

วิธีทำ Circular Design ด้วยสูตรลัด 5 x 6 และการสร้างคุณค่าให้งานออกแบบ ในวันที่ทรัพยากรใกล้หมดโลก

การออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) และความยั่งยืน เป็นเรื่องจำเป็นอย่างเร่งด่วนสำหรับโลกใบนี้และยังเป็นโอกาสสำคัญในการปรับตัวของธุรกิจการออกแบบที่ผู้บริโภคต่างมองหาในปัจจุบัน ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าว จึงจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่นักออกแบบรุ่นใหม่ ภายใต้โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ปี 2566 หรือ Designers' Room / Talent Thai  & Creative Studio Promotion 2023 เพื่อส่งเสริมนักออกแบบ สู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้าน Circular Design และเหล่าแบรนด์นักออกแบบไทยมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างอบอุ่น

ทำความเข้าใจ Circular Design ผ่านเศรษฐกิจหมุนเวียน

คุณกมลนาถ องค์วรรณดี ผู้ฝึกอบรม CIRCO Hub Thailand กล่าวว่า "เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy คือ ระบบทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการคิดแบบองค์รวม โดยเลียนแบบระบบนิเวศตามธรรมชาติที่ต้องการลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด ในขณะที่ยังคงรักษามูลค่าของสินค้าให้ได้สูงสุด เช่นเดียวกับของเสียในธรรมชาติที่ถูกย่อยสลายกลายเป็นแร่ธาตุกลับคืนสู่พื้นดินและหล่อเลี้ยงต้นไม้ต่อไป ซึ่งเป็นที่มาของกระบวนการผลิตแบบCircular Design ที่มีหลักการสำคัญคือ ต้องการลดของเสีย เพิ่มการใช้ซ้ำ พร้อมดูแลธรรมชาติไปด้วยกัน"

เริ่มต้นทำ Circular Design ด้วยสูตรลัด 5 x 6

สูตร 5 x 6 เป็นสูตรตั้งต้นในการทำ Circular Design ที่ประกอบไปด้วย 5 Business Model และ 6 กลยุทธ์การออกแบบ โดยนำแต่ละอันมาจับคู่กันเพื่อใช้ในการคิดออกแบบสินค้าและบริการ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

5 Business Model สู่การเป็นธุรกิจที่ดีต่อสังคมและโลก

  • Business Model 1: Classic Long Life ธุรกิจขายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ยาวนาน โดยใช้วัสดุและพลังงานในการผลิตอย่างคุ้มค่าและยาวนานที่สุด เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนบ่อยและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน 
  • Business Model 2: Hybrid Model ธุรกิจที่ขายสินค้าและบริการ สามารถสร้างรายได้จากการขายชิ้นส่วนที่ต้องเปลี่ยนใหม่เรื่อยๆ โดยทำให้ชิ้นส่วนที่ต้องเปลี่ยนนั้น สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตซ้ำได้
  • Business Model 3: Gap Exploiter Model ธุรกิจที่ใช้โอกาสจากช่องว่างในการใช้งานของผู้ใช้ ซึ่งมีหลายรูปแบบในการสร้างรายได้ ทั้งธุรกิจให้บริการซ่อมแชม (Repair service) ธุรกิจขายของมือสอง (Secondhand trader) และธุรกิจรีไซเคิลและขายเศษวัสดุ (Recovery)
  • Business Model 4: Access Model ธุรกิจที่ผู้ใช้ต้องจ่ายเงินเพื่อใช้งาน เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีช่วงเวลาไม่ถูกใช้งานเป็นเวลานาน เช่น จักรยานให้เช่า ที่สามารถยืมใช้ได้หลายคน ลดปริมาณการสร้างผลิตภัณฑ์
  • Business Model 5: Performance Model ธุรกิจที่ผู้ใช้จ่ายตามปริมาณหรือระยะเวลาที่ใช้ ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องซื้อขาด เช่น การเช่าเฟอร์นิเจอร์ในสำนักงาน

6 กลยุทธ์การออกแบบให้เป็น Circular Design

  • กลยุทธ์การออกแบบที่ 1 : Product Attachment and Trust ออกแบบด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือและความผูกพัน เพื่อสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้กับผลิตภัณฑ์ เหมาะสำหรับสินค้าที่อาจถูกทิ้งก่อนสิ้นอายุการใช้งาน ทำให้ผู้ใช้ระมัดระวังและใช้ผลิตภัณฑ์ยาวนานขึ้น
  • กลยุทธ์การออกแบบที่ 2 : Product Durability ออกแบบให้ทนทานถาวร ออกแบบทุกชิ้นส่วนให้ทนทาน เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายหรือปัญหาระหว่างใช้งาน
  • กลยุทธ์การออกแบบที่ 3 : Standardization and Compatibility กำหนดมาตรฐานและความเข้ากันได้ โดยออกแบบให้สินค้าใช้ชิ้นส่วนมาตรฐานหรือรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้สามารถใช้กับสินค้าหลายๆ รุ่นได้
  • กลยุทธ์การออกแบบที่ 4 : Ease of Maintenance and Repair ออกแบบให้ซ่อมง่าย การออกแบบให้ง่ายต่อการซ่อมแซมจะช่วยยืดอายุการใช้งาน ซึ่งสามารถออกแบบให้ซ่อมเฉพาะส่วนได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด
  • กลยุทธ์การออกแบบที่ 5 : Upgradeability and Adaptability ออกแบบให้อัพเกรดหรือปรับเปลี่ยนได้ง่าย การออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนหรือซอฟท์แวร์ได้ง่าย จะช่วยยืดอายุการใช้งานได้ โดยอาจเลือกปรับเปลี่ยนเฉพาะบางส่วน
  • กลยุทธ์การออกแบบที่ 6 : Design for Dis- and Reassembly ออกแบบให้ถอดประกอบแยกส่วนได้ เพื่อให้สามารถแยกชิ้นส่วนที่เป็นวัสดุต่างชนิดกัน ทำให้นำกลับมาใช้ผลิตซ้ำหรือใช้งานซ้ำได้ง่ายและยังคงคุณค่าของวัสดุ

ดังนั้น จะเห็นว่าการทำ Circular Design จำเป็นต้องดำเนินการอย่างมีระบบ โดยรูปแบบธุรกิจต้องสอดคล้องควบคู่ไปกับแนวคิดในการออกแบบจึงจะเป็นความยั่งยืนที่มีคุณค่าต่อทุกคนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ยังได้เหล่าแบรนด์นักออกแบบชื่อดังมาร่วมเสริมทัพความรู้และประสบการณ์ในประเด็นต่างๆ อาทิ คุณภทรฤน พงษ์ประสิทธิ์ นักออกแบบและผู้ก่อตั้ง แบรนด์แฟชั่นไทย VINN PATARARIN ที่มาเล่าถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงขับเคลื่อนให้แบรนด์เติบโต โดยเริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจบุคลิกของลูกค้า สู่การวางแผนใช้เทคนิคและค้นหาแนวคิดในการสร้างคอลเลคชั่นของแบรนด์ เพราะคอลเลคชั่นเป็น   กลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้ผู้ซื้ออยากติดตามแบรนด์ต่อไปเรื่อยๆ

คุณอมรเทพ คัชชานนท์ Founder & Design Director แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน AMO.ARTE มาเล่าถึง คุณค่าของการใช้วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ง่ายและโตเร็วอย่าง "ไม้ไผ่" และ "ไม้ตาล" ที่นำมาสร้างเป็นสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้าน ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณค่าให้วัสดุท้องถิ่นและสะท้อนให้เห็นศักยภาพของวัสดุที่หลายคนอาจมองข้าม รวมทั้งยังช่วยสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่นจากการปลูกต้นไผ่และต้นตาลได้อีกด้วย

คุณกฤษณ์ พุฒพิมพ์ Design Director, DOTS studio ผู้รับออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์การออกแบบอันหลากหลาย ที่เป็นบทเรียนให้รู้ว่า ทุกดีไซน์มีทางออกเสมอ โดยที่การทำงานนั้นต้องไม่ยึดติดแค่ความชอบของตัวเอง แต่ต้องมองให้เห็นความชอบของตลาดและกลุ่มเป้าหมายด้วย จึงจะนำมาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์และมีมูลค่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ