มูลนิธิรักษ์ตับพร้อมด้วยตัวแทนผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สานต่อความสำเร็จของแคมเปญ "Voice for Change หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ" เพื่อเร่งการบรรจุยารักษามะเร็งตับเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ ในสปสช. และผลักดันแนวทางการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งตับชาวไทย
"มะเร็งตับ" พบมากเป็นอันดับหนึ่งและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของมะเร็งในคนไทย ซึ่งพบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในผู้ชาย และพบเป็นอันดับ 3-4 ในผู้หญิง อย่างไรก็ตามในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถพบโรคมะเร็งตับได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยในปี พ.ศ. 2563 ยอดผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับมีจำนวนสูงถึง 26,704 ราย จากจำนวนผู้ป่วยที่พบทั้งหมด 27,394 ราย คิดเป็น 97.5% ของผู้ป่วยมะเร็งตับ[ วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ ไนยรัฐ ประสงค์สุข และภาสกร วันชัยจิรบูรณ์. ต่อชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ?.ยกระดับเส้นทางการรักษา การศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่กำหนดการเข้าถึงการรักษา การดูแลและการให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับในประเทศไทย. ม.ป.ป. หน้า 2.] ถือเป็นวาระเร่งด่วนทางด้านสาธารณสุขของไทยที่ทุกคนต้องหันมาให้ความสำคัญไม่แพ้ภัยสุขภาพอื่น ๆ
นพ.จำรัส พงษ์พิศ อายุรแพทย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลหนองคาย ในฐานะตัวแทนมูลนิธิรักษ์ตับ พร้อมด้วยทีมแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งตับและผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ รวม 7 คน ได้เข้าพบ นพ. จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแหงชาติ ภญ. ยุพดี ศิริสินสุข และนายดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นางสาวนงลักษณ์ ยอดมงคล ผู้ช่วยเลขาธิการสำหนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนายณรงค์ อาสายุทธ ผู้อำนวยการกลุ่มสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคมะเร็งตับและการรักษา ปัญหาและความต้องการด้านต่าง ๆ ของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในประเทศไทย และร่วมหารือแนวทางการพัฒนาการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
ภญ. ยุพดี ศิริสินสุข กล่าวว่า "สปสช. เข้าใจถึงสถานการณ์และเห็นใจผู้ป่วยโรคมะเร็งตับที่ไม่สามารถเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทั่วถึงเนื่องจากประสบปัญหาในด้านค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ทางหน่วยงานมิได้นิ่งนอนใจ พร้อมรับฟังเสียงของผู้ป่วยมะเร็งตับและดำเนินนโยบายที่จะช่วยเหลือให้ผู้ป่วยมะเร็งตับมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" โดยในที่ประชุม สปสช. มีมติเห็นชอบในการเริ่มดำเนินนโยบายผลักดันการบรรจุยานวัตกรรมเข้าสู่สิทธิการรักษาของคนไทยให้เกิดความคืบหน้าภายใน 1 เดือน ผ่านการหารือกับหน่วยงานภาครัฐบาลและบริษัทผู้ผลิตยาที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคตับ ตลอดจนบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าต้องมีผู้รับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาและห้ามผลักภาระให้ผู้ป่วยเด็ดขาด
นายวีรยุทธ ยอดคำ ผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะลุกลาม เผยถึงประสบการณ์การป่วยเป็นมะเร็งตับและขั้นตอนการรักษาว่า "ผมป่วยมาตั้งแต่ปี 2562 รับประทานอาหารไม่ได้ น้ำหนักลดลงวันละ 1-2 กิโลกรัมทุกวัน ในช่วง 1 เดือน น้ำหนักผมลดไป 20 กิโลกรัม คิดว่าตัวเองคงไม่รอด" ก่อนจะเล่าต่อว่า "พอเจอคุณหมอ คุณหมอแนะนำให้รักษาด้วยการรับประทานยา เพราะเคสผมเป็นระยะลุกลาม เนื่องจากเป็นไวรัสตับอักเสบซี คุณหมอจึงให้ยาต้านไวรัสก่อน แล้วค่อยใช้ยาพุ่งเป้ารักษามะเร็งอีกที ผมรับประทานยาเม็ดได้ประมาณ 2-3 เดือน แล้วเกิดอาการข้างเคียงเยอะมาก มือเท้าแตก จับอะไรนิดหน่อยเป็นแผลแตกหมดเลย ใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างลำบากจึงขออาจารย์หยุดยาเพราะรู้สึกทนไม่ไหว และขอเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่น อาจารย์เลยแนะนำตัวยาปัจจุบันให้ ซึ่งเป็นยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด ร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด พบว่าดีขึ้น ไม่มีผลข้างเคียง และน้ำหนักเพิ่มขึ้น จากตอนแรกที่คิดว่าตัวเองคงไม่รอด แต่ตั้งแต่ที่ได้รับยาภูมิคุ้มกันบำบัด ผมอาการดีขึ้นมา 3 ปีแล้ว ถ้าเปรียบเทียบกับผู้ป่วยมะเร็งรายอื่นๆ ที่ผมเคยพูดคุยด้วยตอนรอพบคุณหมอ เขาบอกว่าพวกเขาได้รับยาคีโม แต่มันไม่ใช่ยาที่พวกเขาอยากได้ เพราะกลับบ้านไปแล้วจะรู้สึกเจ็บปวดทรมานมาก ผมร่วง กินข้าวไม่ได้ นอนไม่ได้ เพราะจริง ๆ แล้วทุกคนก็อยากเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพ อยากได้สิ่งที่ดี ๆ ให้ชีวิตตัวเอง ปัจจุบันผมมาหาหมอทุกๆ 3 สัปดาห์ เพื่อมารับยา แต่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เพราะยาไม่ได้อยู่ในสิทธิ์รักษา 30 บาท"
นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกที่มีการร่วมลงชื่อของประชาชนคนไทยกว่า 5,092 รายชื่อ ผ่านแคมเปญ "Voice for Change หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ" เรียกร้องให้มีมาตรการตามข้อเสนอและปรับปรุงรายการบัญชียาเพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งตับเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็งตับกลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) และยาต้านการสร้างหลอดเลือดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับลงในชุดสิทธิประโยชน์สปสช. อันเป็นสิทธิ์การรักษาขั้นพื้นฐานของคนไทยเพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งตับมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้การรักษาโรคมะเร็งตับด้วยยาในปัจจุบัน แบ่งเป็น 4 วิธีหลัก ได้แก่ ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ในการเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย และยาภูมิคุ้มกันบำบัดโดยใช้ร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด ซึ่งมีหลักฐานสนับสนุนทางวิชาการที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์การรักษาที่ดี ช่วยยืดระยะเวลาปลอดโรค และช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ
แคมเปญ "Voice for Change หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ" เป็นแคมเปญที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิรักษ์ตับ เพื่อสะท้อนผลกระทบจากโรคมะเร็งตับ และผลักดันการเข้าถึงยาสำหรับรักษาโรคมะเร็งตับให้เข้าอยู่ในสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการรณรงค์บนเว็บไซต์ change.org ซึ่งมีเป้าหมายรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับ นำไปสู่การพิจารณาสิทธิรักษาพยาบาลให้ครอบคลุม เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตัวเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย คลายความกังวลใจด้านต่าง ๆ ของครอบครัว ลดการสูญเสียทรัพยากรแรงงานของประเทศ และช่วยให้ระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทยรับมือกับภัยคุกคามทางสุขภาพนี้ได้อย่างยั่งยืน