บพข. - มจพ เตรียมปล่อยดาวเทียมแนคแซท 2 (KNACKSAT-2) ฝีมือเด็กไทยขึ้นสู่วงโคจร

ข่าวทั่วไป Thursday October 12, 2023 15:24 —ThaiPR.net

บพข. - มจพ เตรียมปล่อยดาวเทียมแนคแซท 2 (KNACKSAT-2) ฝีมือเด็กไทยขึ้นสู่วงโคจร

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และหน่วยงานภาคี แถลงข่าวพิธีส่งมอบดาวเทียมแนคแซท 2 ให้กับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAKA) เพื่อนำส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และปล่อยเข้าสู่วงโคจรต่อไปในต้นปี พ.ศ. 2567

แนคแซท 2 หรือ KNACKSAT-2 เป็นโครงการดาวเทียมคิวบ์แซท (CubeSat) ขนาด 3U (30 x 10 x 10) พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มีรูปแบบเป็น Ride Sharing Platform Satellite หรือการแชร์พื้นที่ใช้สอยบนดาวเทียมร่วมกัน โดยดาวเทียมแนคแซท 2 มีพื้นที่ในการบรรจุเพย์โหลดเพื่อปฏิบัติภารกิจ (Mission Payload) ทั้งหมด 7 ระบบ โดยแต่ละเพย์โหลดเป็นโครงการความร่วมมือพัฒนาระหว่าง มจพ. กับหน่วยงานอีก 7 หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย 1) บพข. 2) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด 3) ร.ร.เตรียมวิศวกรรมไทย-เยอรมัน มจพ. 4) Rail Systems Cluster มจพ. 5) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 6) UiTM ประเทศมาเลเซีย และ 7) UPHSD ประเทศฟิลิปปินส์

โดย บพข. ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่ มจพ. ในโครงการพัฒนาอุปกรณ์ IoT ฐานอวกาศเพื่อการสาธิตในวงโคจร ภายใต้แผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยมี บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AIS) เป็นผู้ร่วมทุนในการวิจัยและพัฒนา เพื่อออกแบบและพัฒนา Payload อุปกรณ์ IoT ทำงานผ่านดาวเทียมเพื่อสร้างตัวอย่างการใช้งานเชิงธุรกิจ โดยคณะวิจัยได้ทำการพัฒนา IoT ออกเป็น 2 เพย์โหลด หรืออุปกรณ์เพื่อปฏิบัติภารกิจ สาธิตการทำงานของ IoT gateway และภารกิจ Store and Forward บนอวกาศ ซึ่งทั้งสองเพย์โหลดมีความสามารถในการทำงานพื้นฐานที่คล้ายกัน คือ สามารถรับสัญญาณ LoRa จากสถานีบนโลกได้ ทั้งนี้ทั้ง 2 เพย์โหลด มีความแตกต่างกันในด้าน ความซับซ้อนของการทำงาน โดยโหลดที่มีความซับซ้อนน้อยจะเรียกชื่อว่า "Postman" และสำหรับเพย์โหลดที่มีความซับซ้อนมากกว่าจะเรียกชื่อว่า "Chef" โดยทั้งสองระบบนี้จะถูกบรรจุลงในดาวเทียมแนคแซท 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศ ให้สามารถเข้าถึงอวกาศได้ง่ายขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.พงศธร สายสุจริต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ มจพ. ในฐานะหัวหน้าโครงการได้เล่าถึงความเป็นมาและภารกิจของดาวเทียมว่า "ดาวเทียมแนคแซท 2 เป็นดาวเทียมที่ออกแบบและพัฒนาโดยเด็กไทย และใช้วัสดุภายในประเทศกว่า 98% โดยมีเป้าหมายในการใช้ IoT Satellite ในการเติมเต็ม IoT Network ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณ Network Cellular ตามปกติ เช่น ในทะเล บนภูเขา และพื้นที่ทางการเกษตร ที่มีปริมาณผู้คนอยู่น้อย แต่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบ IoT Solution ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานด้านความปลอดภัย และความมั่นคงของประเทศ ของหน่วยงานทหาร การตรวจสอบข้อมูลในด้านทรัพยากร การเฝ้าระวังไฟป่า ของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำมาใช้ในธุรกิจการประมงและการขนส่งทางเรือ พาณิชย์นาวี การทำเกษตรกรรมในพื้นที่กว้างหรือห่างไกล ไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญานอินเตอร์เน็ตได้ จะช่วยให้ธุรกิจภาคดังกล่าวสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์ โดยผ่านระบบ Sensor ตรวจจับต่าง ๆ ในราคาที่เป็นของคนไทย ไม่ต้องจ่ายในราคาที่ซื้อจากต่างประเทศ นอกจากนี้การที่ดาวเทียมที่เราสร้างงเองได้ออกไปสู่วงโคจรจริง ทำให้มี study case ที่แท้จริงในการพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเราต่อไป"

ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า "บพข. มีหน้าที่ในการสร้างความร่วมมือในการทำงานระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำองค์ความรู้ที่เป็นนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากมหาวิทยาลัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ยกตัวอย่างเช่นโครงการนี้ มจพ. ได้นำเอาเทคโนโลยีขั้นสูง คือเทคโนโลยีอวกาศ มาเชื่อมโยงในการยกระดับให้ผู้ประกอบการของเราให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ผ่านการทำงานวิจัยร่วมกัน ซึ่งตรงนี้จำเป็นต้องมีทุนวิจัยและความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนที่จะทำให้นวัตกรรมนั้นเป็นจริงได้และไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง วันนี้ถือเป็นมิติที่เราช่วยกันในการขับเคลื่อนประเทศ นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาผู้ประกอบการของเราให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในเชิงพาณิชย์

รศ.ดร.ธงชัย กล่าวต่อว่า การที่จะดึงศักยภาพจากมหาวิทยาลัยไปใช้ในการขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนตามยุทธศาสตร์ชาติได้ อันดับแรก เราต้องสร้างความร่วมมือกันให้ได้ก่อน คือ มีการคุยกันระหว่างผู้ใช้และฝั่งที่เป็นองค์ความรู้ ว่ามีสิ่งไหนที่จะสามารถเอานวัตกรรมนั้นมาสร้างให้เกิดเป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ และไปสู่การใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านเศรษฐกิจหรือสังคม และสิ่งที่สำคัญคือเป็นการสร้างทักษะกำลังคนของประเทศไทยเราให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นคนของเราจะมีศักยภาพในการแก้ปัญหาและทำให้ประเทศผ่านวิกฤตไปได้ และที่สำคัญคือ ประเทศของเราจะเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม และมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย และทำให้คนไทยเรานั้นมีองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา และช่วยทำให้ประเทศของเราเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจได้ต่อไปในอนาคต

ด้าน ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มจพ. กล่าวเสริมว่า มจพ. นั้นเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เราพยายามที่จะเอาองค์ความรู้ที่ในอยู่ในมหาวิทยาลัยต่อยอดออกไปสู่การใช้ประโยชน์ในธุรกิจให้ได้ ซึ่งจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกที่เป็นการพัฒนากำลังคน จะเห็นได้ว่าโครงการนี้นั้นมีน้อง ๆ เด็ก ๆ ที่เข้ามาเรียนตั้งแต่ ปวช. จนถึงปริญญาตรี และร่วมทำโครงการด้วย และเมื่อน้อง ๆ เรียนจบแล้วก็ได้มีการออกไปตั้งบริษัทสตาร์ทอัพเป็นของตัวเอง และยังมีกลไกการทำงานที่ร่วมกับภาคเอกชน เรามีพาร์ทเนอร์ที่เป็นภาคเอกชน และมีหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนผลักดันสิ่งเหล่านี้ด้วย นั่นก็คือ บพข.

ขณะนี้ดาวเทียมแนคแซท 2 ได้ถูกพัฒนาเสร็จสมบูรณ์และพร้อมนำออกจากประเทศไทยแล้ว โดยทาง มจพ. มีกำหนดการนำดาวเทียมแนคแซท 2 ออกจากประเทศไทยออกจากประเทศไทยในวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำส่งเข้าวงโคจรจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2567 โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท NBSPACE มหาวิทยาลัย Kyushu Institute of Technology (KYUTECH) และ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAKA)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ