นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ว่า สถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2566 พบการระบาดเพิ่มสูงขึ้น จากรายงานเฝ้าระวังโรค (รง.506) มีผู้ป่วยสะสม 39,385 ราย คิดเป็นอัตราป่วยสะสม 716.75 ราย/ประชากรแสนคน พบผู้เสียชีวิต 1 ราย อัตราป่วยจำแนกตามกลุ่มอายุสูงสุด คือ 5 - 9 ปี รองลงมา ได้แก่ 10 - 14 ปี และ 0 - 4 ปี ตามลำดับ ในปี 2566 นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค. - ส.ค.66 จำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง พบว่า สูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง คิดเป็น 3.12 เท่า ในช่วงเวลาเดียวกัน เฉพาะเดือน ก.ย.66 มีจำนวนผู้ป่วย 18,284 ราย
ทั้งนี้ กทม.ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจ้งเตือนการระบาดและออกสอบสวนโรคหากพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน ขณะเดียวกันได้ให้บริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6) โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ โดยดำเนินการในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. - 31 ส.ค.66 จำนวน 132,567 คน
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ของโรงเรียนในสังกัด กทม.ทุกระดับชั้น โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ทั้งแบบแผ่นพับและสื่อออนไลน์ รวมถึงแจ้งแนวทางการคัดกรองนักเรียนที่มีอาการป่วยให้โรงเรียนได้รับทราบถึงแนวทางปฏิบัติ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กนักเรียนและการระบาดในลักษณะกลุ่มก้อน ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อจากฝอยละอองจากการไอ หรือจามรดกัน หรืออาจติดต่อจากการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย วิธีการป้องกัน ได้แก่ ปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอ จาม สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเข้าไปในที่ชุมชน ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ หลีกเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด และเมื่อมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดให้รีบสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย หากพบว่า เป็นไข้หวัดใหญ่ต้องรีบรับประทานยา พักผ่อนมาก ๆ เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำสะอาด ประมาณ 5 - 7 วัน หรือจนอาการดีขึ้น