ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนา อุดมศรีไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมแถลงข่าวเปิดตัวดาวเทียมแนคแซท 2 (KNACKSAT-2) เพื่อส่งเข้าสู่วงโคจรของโลก โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นประธานเปิดการแถลงข่าว และ ดร.พงศธร สายสุจริต รักษาการผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ กล่าวความเป็นมาของการดำเนินโครงการดาวเทียม KNACKSAT-2 และแนะนำภารกิจของดาวเทียม ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
ซึ่งดาวเทียมแนคแซท 2 (KNACKSAT-2) เป็นโครงการดาวเทียมคิวบ์แซท (CubeSat) ขนาด 3U (30 x 10 x 10 ซม.) เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและมหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมด้วยหน่วยงานอื่น ๆ อีก 6 หน่วยงาน ได้แก่
1. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
2. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
3. มหาวิทยาลัย Universiti Teknologi MARA (UiTM) ประเทศมาเลเซีย
4. มหาวิทยาลัย University of Perpetual Help System Dalta (UPHSD) ประเทศฟิลิปปินส์
5. มหาวิทยาลัย Kyushu Institute of Technology (KYUTECH) ประเทศญี่ปุ่น
6. องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น
ดาวเทียม KNACKSAT-2 มีพื้นที่ในการบรรจุเพย์โหลด (Mission Payload) หรืออุปกรณ์เพื่อปฏิบัติภารกิจถึง 7 ระบบ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศให้สามารถเข้าถึงอวกาศได้ง่ายขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
มหาวิทยาลัยพะเยา นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนา อุดมศรีไพบูลย์ พร้อมด้วย นายธนาธิป ชุมภูวัง นายณัฏฐชัย แซ่เติน สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา และ นายชุติพันธ์ เชี่ยวสุวรรณ สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มีส่วนเข้าร่วมออกแบบเพย์โหลดของดาวเทียมดังกล่าว ดาวเทียม KNACKSAT-2 เป็นหนึ่งความสำเร็จจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ซึ่งนอกจากภาคการศึกษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแล้ว KNACKSAT-2 ยังพัฒนาเพื่อสร้างตัวอย่างการใช้งานเชิงธุรกิจ และงานวิจัยสำหรับสถานศึกษาของประเทศไทยเพื่อเป็นพื้นฐานองค์ความรู้ของประเทศไทยให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศชั้นนำในระดับเอเชียและระดับโลก ซึ่งกำหนดการนำดาวเทียม KNACKSAT-2 ออกจากประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำส่งเข้าสู่วงโคจรจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ช่วงต้นปี 2567 โดยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย Kyushu Institute of Technology (KYUTECH) และ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ที่จะนำดาวเทียมดังกล่าวขึ้นสู่ห้วงอวกาศต่อไป