เอ ฉัตริน ปีติตระกูล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรนานาชาติ BBA in Modern Trade Business Management (iMTM) วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) หนุ่มน้อยผู้ใฝ่ฝันการเป็น Startup เริ่มฝึกงานและได้รับความไว้วางใจให้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมงานของ บริษัท ยาเบซ จำกัด สตาร์ทอัพไทยด้านเวชภัณฑ์
เอเล่าถึงแพสชันที่สนใจด้านธุรกิจตั้งแต่ฝึกงานตอนเรียนปี2 เมื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จนเข้มข้นแล้วจึงเข้าร่วมทีมกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ของยาเบซส่งผลงานประกวดในเวทีนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจและไม่เคยกลับบ้านมือเปล่า ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าประกวดคือ ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน "Sorderm Cream" ซึ่งเวทีการประกวดล่าสุดคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในหมวด "The Maybank ASEAN Startup Award" จัดโดย Lee Kuan Yew Global Business Plan Competition ของมหาวิทยาลัย Singapore Management University (SMU) ครั้งที่ 11 ณ ประเทศสิงคโปร์ อีกทั้งยังเคยติด 1 ใน 4 ทีมรอบชิงชนะเลิศเวที SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin 2022 Global Competition, และได้ทุนวิจัย ในโครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน ชื่อ ซอร์สกิน : ระบบดูแลผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA
เอ ฉัตริน สนใจการทำธุรกิจตั้งแต่เป็นนักศึกษาและมองว่าค่อนข้างได้เปรียบและปลอดภัย เพราะได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ คอยให้คำปรึกษา ทำให้กล้าทำสิ่งที่อยากทำได้โดยไม่ต้องกังวลมาก หลังจากที่ได้อ่าน Business Plan ของยาเบซประกอบกับเป็นคนรักสุขภาพเป็นทุนเดิม จึงคิดว่าจุดนี้คือโอกาสที่จะนำ ต้นพลูแก พืชสมุนไพรไทยมหัศจรรย์ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น นอกจากจะมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์กับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินแล้ว ยังสามารถนำมาต่อยอดทางธุรกิจได้อีกหลายมิติ เอได้ร่วมกับทีมยาเบซลงพื้นที่หาวัตถุดิบ เข้าแล็บทดลอง ผ่านขั้นตอนการวิจัยจนได้ผลรับรองที่แน่นอน จึงนำเข้าสู่ขั้นตอนการวางแผนธุรกิจ โดยเอรับหน้าที่หลักในงานนี้ ซึ่งต้องอาศัยวิชาความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ในภาคปฎิบัติ ตลอดจนคิดวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดต่างๆ เช่น การวางแผนธุรกิจระยะยาว การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ การนำเสนอ ตลอดจนการออกแบบบรรจุภัณฑ์
"ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยไม่ง่าย และสิ่งที่ได้เต็มไปด้วยประสบการณ์" ต้องใช้เทคนิคการจัดการ คือต้องจัดสรรเวลาและบาลานซ์ชีวิตให้ลงตัว เป็นเรื่องไม่ง่ายนักเพราะยาเบซเป็นสตาร์ทอัพที่เพิ่งก่อตั้งระยะแรกต้องใช้เวลาเรียนรู้ค่อนข้างมาก รวมถึงต้องรับมือกับปัญหาที่ไม่คาดคิดทุกรูปแบบ ทำให้เจองานท้าทายทุกวัน เนื่องจากต้องลงมือลุยเอง สนุกกับงานทุกขั้นตอน ได้ทำงานไม่จำเจ จึงตัดปัญหาเรื่องหมดไฟในการทำงานออกไปได้เลย ส่วนการเรียนก็คิดว่าพีไอเอ็มเหมาะกับตัวเอง เพราะการเรียนในรูปแบบ Work-based Education เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และลงมือทำ ผ่านประสบการณ์ในห้องและนอกห้องเรียนอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่ช่องทางการเป็นผู้ประกอบการได้จริง และวิทยาลัยนานาชาติซึ่งเป็นคณะที่เรียนอยู่นั้นเน้นสร้างคนให้มีหัวคิดทางธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการคิดนวัตกรรมเพื่อสังคมควบคู่กันไปด้วยเสมอ มีทีมคณาจารย์คอยให้คำปรึกษาและดึงศักยภาพของนักศึกษาแต่ละคนออกมาให้ใช้ให้มากที่สุด พร้อมกระตุ้นแรงบันดาลใจให้กล้าลุย และปลุกไอเดียสร้างสรรค์เพื่อการต่อยอดในอนาคต