ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติเป็นวิทยากร ในหัวข้อ เส้นทางสู่ความสำเร็จ บี.กริม 145 ปี (B.Grimm 145th Anniversary) โดยร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ข้อคิด และปัจจัยความสำเร็จตลอดเส้นทางการดำเนินธุรกิจของ บี.กริม ในประเทศไทย แก่ผู้บริหารองค์กรทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรม รุ่นที่ 8 ภายใต้หลักสูตร "นักบริหารระดับสูงด้านการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและการลงทุน" สถาบันวิทยาการธุรกิจและอุตสาหกรรม (วธอ.) ณ โรงแรม อโนมา แกรนด์ กรุงเทพ เมื่อเร็วๆ นี้
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า ตลอดเวลากว่า145 ปี บี.กริม ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย นับจากจุดเริ่มต้นในการนำยาสมัยใหม่ตำรับยุโรปมาสู่ประเทศไทย พร้อมดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ การขุดคลองชลประทานรังสิตเป็นระยะทาง 1,500 กิโลเมตร ตลอดจนกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมและการดำเนินธุรกิจการค้าอื่นๆ รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้าซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2538 ด้วยความร่วมมือระหว่าง บี.กริม เพาเวอร์ กับบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
มาถึงปัจจุบัน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศไทย โดยมีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 61 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,830 เมกะวัตต์ มุ่งขยายการลงทุนสู่การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ารวมกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 พร้อมยกระดับสู่บริษัทผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก ตั้งเป้าก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (ปี พ.ศ. 2593)
ทั้งนี้ หัวใจความสำเร็จซึ่งถือเป็นปรัชญาการดำเนินธุรกิจของ บี.กริม ตลอด 145 ปีที่ผ่านมา คือ การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีเพื่อสร้างความศิวิไลซ์ ภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ โดยมุ่งสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนและสังคมพร้อมยึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดำรงไว้ซึ่งหลัก ธรรมาภิบาล เพื่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ซึ่งยังคงเป็นทิศทางที่บริษัทมุ่งไปหลังจากนี้
สำหรับสถาบันวิทยาการธุรกิจและอุตสาหกรรม (วธอ.) จัดตั้งขึ้นโดย "มูลนิธิเพื่อการพัฒนาการประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรม มีเป้าหมายเสริมสร้างศักยภาพ องค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่ผู้บริหารองค์กรทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้ในศาสตร์หลากหลายแขนงซึ่งสามารถสนับสนุนการพัฒนาและการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีหลักการบริหารและจัดการแบบใหม่โดยคำนึงถึงสภาวการณ์ในอนาคต โดยการจัดทำหลักสูตร "นักบริหารระดับสูงด้านการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและการลงทุน" รวมถึงหลักสูตรระดับสูงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกด้าน และสร้างเครือข่ายบุคลากรด้านการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและการลงทุนของประเทศ เพื่อเป็นหลักที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป