กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
มั่นใจขอเวลา 5 ปี หวังกำจัดต้นเหตุสำคัญของ ภาวะตาบอดจากโรคริดสีดวงตาให้หมดไป ผลจากการรณรงค์ส่งผลชัดเจนจากที่เคยพบผู้ป่วยได้ทั่วประเทศเวียดนาม ขณะนี้มีจำกัดอยู่เพียงในภาคเหนือ ในขณะที่ความพยายามขั้นสุดท้ายกำลังเริ่มขึ้น
เวียดนามตั้งเป้าหวังเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในรอบ 50 ปีที่สามารถกำจัด โรคริดสีดวงตา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในระดับนานาชาติที่ต้องการจะกำจัดอาการตาบอดอันเนื่องมาจากโรคดังกล่าวให้หมดไป ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินโครงการควบคุมโรคริดสีดวงตาแห่งชาติของเวียดนาม ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุขจะประสบความสำเร็จได้ภายในปี พ.ศ. 2553 หรือ 10 ปีก่อนถึงเวลาเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้
มร. ตรัน ชี เลียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประเทศเวียดนาม กล่าวระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการวางแผนยุทธศาสตร์โรคริดสีดวงตาประจำปี 2547 ว่า เวียดนามประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการควบคุมโรคริดสีดวงตาแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แจ้งว่า ปัจจุบัน ประชากรทั่วโลกประมาณ 8 ล้านคน มีความพิการด้านการมองเห็น อันเป็นผลมาจากโรคริดสีดวงตา และ 84 ล้านคนกำลังประสบปัญหาการติดเชื้อนี้อยู่ ประมาณการว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคริดสีดวงตา ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา โดยชาวเวียดนามประมาณ 11 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคริดสีดวงตา และประมาณ 300,000 รายสูญเสียการมองเห็นจากอาการตาบอดด้วยโรคนี้
ทั้งนี้ ความสำเร็จในการกำจัดโรคริดสีดวงตาของเวียดนาม เป็นผลจากการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับโครงการโรคริดสีดวงนานาชาติ หรือไอทีไอ ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งในปี 2541 โดยมูลนิธิเอดนา แมคคอนเนล คลาร์ก และบริษัทไฟเซอร์ฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นคว้าวิจัยเวชภัณฑ์ระดับโลก โดยมีการนำยุทธศาสตร์ SAFE มาใช้ กล่าวคือ “S” Surgery เน้นการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการแทรกซ้อนที่อาจทำให้ตาบอด ถ้าทิ้งไว้โดยไม่รักษา “A” Active การให้ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาการติดเชื้อโรคริดสีดวงตาที่ยังส่งผลอยู่ ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากไฟเซอร์ฯ ในการบริจาคยา Zithromax ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้กว้างขวาง (broad-spectrum) มาใช้ “F” Face หมายถึง การสนับสนุนให้มีการล้างหน้าเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และ “E” หมายถึง Environmental Changes คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เพื่อปรับปรุงระบบสุขาภิบาล เพื่อให้มีน้ำสะอาด
ในช่วง 5 ปีแรก ไฟเซอร์ฯ ได้บริจาคยา Zithromax จำนวน 8 ล้านหน่วยเพื่อการปฏิบัติงานของไอทีไอทั่วโลก ซึ่งมีการใช้ในเวียดนามทั้งสิ้น 1.3 ล้านหน่วย ต่อมาในช่วง 5 ปีที่สอง ไฟเซอร์ฯ เพิ่มจำนวนบริจาคมากกว่าเดิมอีก 135 ล้านหน่วย หรือคิดเป็น 15 เท่า เพื่อตอบสนองความสำเร็จของการดำเนินงานของไอทีไอในประเทศที่อยู่ในโครงการ ถือว่าการบริจาค Zithromax ระหว่างเวลา 10 ปีแรกของการรณรงค์กำจัดริดสีดวงตาทั่วโลกนี้ เป็นการบริจาคยาซึ่งสิทธิบัตรยังมีอายุอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
น.พ. จาคอบ คุมาเรสัน ประธานโครงการไอทีไอ ระบุว่า “ความร่วมมือของไอทีไอกับรัฐบาลเวียดนามในความพยายามควบคุมโรคริดสีดวงตานี้เป็นไปอย่างยอดเยี่ยม โดยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการลดการติดเชื้อริดสีดวงตาในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไอทีไอมั่นใจว่า ภาวะตาบอดจากโรคนี้จะถูกกำจัดให้หมดจากประเทศเวียดนามภายใน 5 ปีข้างหน้าคือ ภายในปี พ.ศ. 2553 เร็วกว่าที่เป้าหมายขององค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้ว่า จะกำจัดภาวะตาบอดที่เกิดจากโรคริดสีดวงตาทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2563”
มร. ชัค ฮาร์ดวิค รองประธานของไฟเซอร์ กล่าวว่า “เวียดนามเป็นกรณีตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า แนวทางการดำเนินงานของไอทีไอและไฟเซอร์ จะช่วยให้การกำจัดโรคนี้ประสบความสำเร็จได้ ด้วยเหตุนี้ไฟเซอร์ยินดีที่ได้ให้ความสนับสนุนบริจาคยา Zithromax ให้กับไอทีไอในตลอดระยะเวลาเวลา 7 ปีที่ผ่านมา และพร้อมที่จะเพิ่มจำนวนบริจาคมากขึ้นเพื่อช่วยกำจัดโรคริดสีดวงตาให้หมดสิ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศเวียดนามนี้ด้วย”
นับตั้งแต่การก่อตั้งโครงการไอทีไอ พบว่าระดับความชุกของโรคดังกล่าวในเด็กลดลงประมาณร้อยละ 50-75 และงานผ่าตัดที่ยังคั่งค้างลดลงร้อยละ 13.5 และสำหรับการรณรงค์ในระยะต่อไป รัฐบาลเวียดนามจะเพิ่มการจัดหาน้ำและห้องส้วมให้แก่พื้นที่ที่มีโรคริดสีดวงตาระบาดในท้องถิ่นจากเดิมที่มีพื้นที่ที่มีน้ำใช้เพียงร้อยละ 54 เป็นร้อยละ 80 และสร้างห้องน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่จากเดิมร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 60 จัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านน้ำและการสุขาภิบาลในโรงเรียนทั่วพื้นที่ รวมทั้งการจัดสร้างสถานีสุขภาพให้กับชุมชน พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคริดสีดวงตาให้แก่นักเรียนและชุมชนในพื้นที่โครงการด้วย
โรคริดสีดวงตาเป็นสาเหตุสำคัญระดับโลกที่ทำให้เกิดอาการตาบอดซึ่งสามารถป้องกันได้ โดยมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ คลามายเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) โรคนี้เคยพบแพร่หลายในหลากหลายพื้นที่ในโลก แต่ปัจจุบัน มีอยู่ในพื้นที่จำกัดประมาณ 56 ประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการให้บริการด้านน้ำและการสุขาภิบาลยังไม่พร้อม โรคนี้สามารถแพร่กระจายได้จากการสัมผัสอย่างไม่ตั้งใจ และการสัมผัสจากแม่ไปยังลูก แต่สามารถควบคุมได้ด้วยการปรับปรุงด้านการสุขอนามัยและการสุขาภิบาล การใช้ยาปฏิชีวนะ และการผ่าตัดง่ายๆ ในกรณีที่เป็นมากแล้ว--จบ--