องค์กรทุกขนาดที่แม้จะมีระดับความพร้อมไม่เท่ากันก็สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้หากมีการเตรียมพร้อมด้านSustainability Transformation ที่ดี
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความยั่งยืนกลายเป็นภารกิจสำคัญของทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกับปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากในปี 2566 ที่ทำให้สามารถพยากรณ์ได้ว่าโลกกำลังเข้าสู่ "ยุคโลกเดือด" ตามที่ นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์เมื่อไม่นานมานี้
ย้อนไปเมื่อปี 2558 องค์กรสหประชาชาติประกาศเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน 17 ข้อ (UNSDGs) ที่ครอบคลุมสามด้านหลักคือสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อขับเคลื่อนโลกไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นและมีความยั่งยืนมากขึ้น เป้าหมายเหล่านี้จึงกลายมาเป็นหลักการที่ชี้นำการปฎิบัติงานของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เริ่มจากเปลี่ยนการมุ่งเน้นสร้างกำไรและผลประโยชน์ด้านการค้ามาเป็นการสร้างประโยชน์ต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วยในวิสัยทัศน์ คำมั่นสัญญา และการลงมือทำ เพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีความสนใจด้านความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังที่เห็นได้จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ Global Sustainable Funds ที่เพิ่มสูงถึง 2.74 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งเพิ่มจากช่วงปลายปี 2565 ขึ้นมา 7.5 เปอร์เซ็นต์ และมีความเติบโตมากกว่ากองทุนอื่น ๆ ทั่วโลกถึง 4 เปอร์เซ็นต์
สำหรับประเทศไทยเองก็มีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่เด่นชัด โดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แห่งประเทศไทยได้สร้างกลยุทธ์เพื่อพัฒนาความยั่งยืนด้วยการกำหนดข้อบังคับให้บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (ESG) ในการดำเนินธุรกิจและบริการโดยเน้นไปที่ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเปิดเผยข้อมูล ESG จึงกลายเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยกำกับองค์กรได้แสดงความรับผิดชอบต่อเป้าหมายด้านความยั่งยืนของตนต่อสาธารณชนเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และในขณะเดียวกันก็ดึงดูดโอกาสด้านธุรกิจและการลงทุน พร้อมทั้งสร้างระบบนิเวศธุรกิจที่มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพ ทำได้จริง และวัดได้เป็นหัวใจหลัก
ในขณะที่ความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญทั้งในด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย การนำเสนอรายงานข้อมูลความยั่งยืนจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการประเมินความสามารถของประเทศในการทำตามคำมั่นสัญญาด้านความยั่งยืน ผ่านการดำเนินกิจกรรมขององค์กรต่างๆ โดยในการสร้างรายงาน ESG ที่มีประสิทธิภาพ การเก็บข้อมูล (Data Collection) เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะสะท้อนเห็นภาพรวมของการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร เช่น การแสดงข้อมูลที่ให้เห็นถึงความพยายามในการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนปีต่อปี หรือ การแสดงรายงานที่สอดคล้องกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
อย่างไรก็ตามทุกองค์กรมีความพร้อมและความสามารถในการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ไม่เท่ากัน และยังมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญ องค์กรที่เชี่ยวชาญระดับกลาง และองค์กรที่เพิ่งเริ่มต้นเตรียมข้อมูล องค์กรที่เชี่ยวชาญและคุ้นเคยแล้วมักมีกำลังคนและเครื่องมือพร้อมสรรพในการเก็บข้อมูลและผ่านการทำรายงาน ESG มาแล้วหลายครั้ง องค์กรที่มีความพร้อมระดับกลางอาจกำลังลองผิดลองถูกกับการเตรียมและประมวลข้อมูล และกำลังมองหาหนทางที่จะช่วยทำให้ขั้นตอนนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนองค์กรที่เพิ่งเริ่มต้นทำรายงาน ESG เป็นกลุ่มที่กำลังมองหาแนวทางและตัวช่วยในการติดตั้งระบบ การรายงานด้านความยั่งยืนนั้นอาจเป็นเรื่องยุ่งยากและซับซ้อน โดยเฉพาะสำหรับองค์กรที่เพิ่งเริ่มต้น และยังไม่คุ้นเคยกับภาษาและคำจำกัดความต่าง ๆ รวมไปถึงหลักการ มาตรฐาน และเฟรมเวิร์คที่มีอยู่มากมายด้วย
ข้อมูลด้าน ESG มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาความยั่งยืน และขั้นตอนการเก็บข้อมูลมักเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย "โทชิฮิเดะ โอตานิ ผู้อำนวยการด้าน Sustainability Transformation ของเอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) เน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อมูล ESG ว่า "ข้อมูล ESG มีความสำคัญอย่างมากในการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนที่ถูกต้องและมีความหมาย รายงานนี้ไม่เพียงแสดงถึงความรับผิดชอบตามคำมั่นสัญญาขององค์กรโดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังช่วยให้องค์กรสามารถมองเห็นปัญหาและลงมือแก้ไขจัดการปัญหานั้น ๆ ได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า คุณไม่สามารถจัดการกับสิ่งที่คุณวัดไม่ได้ (You cannot manage what you can't measure.)" นอกจากนี้แม้จะเลือกใช้วิธีการเก็บข้อมูลที่รัดกุมแล้วความผิดพลาดก็ยังอาจเกิดขึ้นได้จากการบันทึกข้อมูลด้วยกำลังคน และปรากฎการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้กับองค์กรในทุกระดับความพร้อม
ดังนั้นการสร้างรายงาน ESG ที่ชัดเจน ถูกต้อง และมีความหมายจึงเริ่มจากการเลือกเครื่องมือการเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับระดับความพร้อมขององค์กร ข้อมูลด้าน ESG เป็นสิ่งสำคัญมากในการแสดงความรับผิดชอบและการแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนขององค์กรได้อย่างทันท่วงที เอบีม คอนซัลติ้ง มีประสบการณ์การให้คำปรึกษาด้านการเก็บข้อมูล ESG แก่องค์กรที่หลากหลาย จึงมองเห็นว่าอนาคตของการเก็บข้อมูล ESG คือการใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่ช่วยลดการใช้แรงงานมนุษย์และลดความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาด การเปลี่ยนไปใช้ระบบอัตโนมัติจะช่วยให้องค์กรสามารถประเมินความพยายามด้านความยั่งยืนของตนด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และยังจะช่วยให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการ Sustainability Transformation ติดต่อ เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) ที่อีเมล contactthailand@abeam.com