ทีเส็บเปิดแผนเพิ่มคุณค่าอุตสาหกรรมไมซ์ไทย เจาะ 3 กลุ่มธุรกิจหลักโดยสอดแทรกทุนวัฒนธรรมให้เป็นจุดเด่นในระยะยาว ตั้งเป้าสิ้นปี 2567 ดึงนักเดินทางไมซ์ 23.2 ล้านคน ทำรายได้ 1.4 แสนล้านบาท
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในปี 2567 ของทีเส็บยึดโยงการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว เพื่ออยู่รอดและเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขัน
จากหลักดังกล่าว ทีเส็บจึงลงทุนทำวิจัยหัวข้อ MICE Foresight ว่าด้วยอนาคตของอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อให้ทราบทิศทางที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแผนกลยุทธ์
ผลการวิจัยพบว่า การดำเนินงานของทีเส็บใน 21 ปีของการก่อตั้งประสบความสำเร็จ สามารถประมูลสิทธิ์งานไมซ์ระดับโลกได้สำเร็จกว่า 442 งาน และให้การสนับสนุนงานไมซ์ทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 6,300 งาน คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศแล้วไม่ต่ำกว่า 63,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไมซ์ 650 รายทั่วโลกยกให้ประเทศไทยเป็นที่หนึ่งในใจ (Top of Mind) เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ 14 ประเทศทั่วเอเชีย ตามด้วยญี่ปุน และสิงคโปร์ โดยประเทศไทยโดดเด่นในเรื่องความคุ้มค่าของการใช้จ่าย ความมีเอกลักษณ์ ความพร้อมในการรองรับนักเดินทาง และภาพลักษณ์ที่เป็นที่ยอมรับในเรื่องไมซ์
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ทั้งในเรื่องการเดินทางธุรกิจจะลดลง ช่วงการเดินทางเพื่อร่วมงานไมซ์จะสั้นลง และความต้องการเปลี่ยนไป เช่น นวัตกรรมไมซ์ แหล่งประชุมใหม่ ประสบการณ์ใหม่ เป้าหมายทางธุรกิจใหม่และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น ทีเส็บได้กำหนดแนวทางในอนาคตพุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นแหล่งประชุมที่ให้มูลค่าและคุณค่าสูง (High Value-Added Destination) และสร้างกลยุทธ์ใหม่ โดยผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านการใช้นวัตกรรม/ความคิดสร้างสรรค์และกระชับการทำงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน
"แนวทางนี้จะสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นและคุณค่าให้แก่กิจกรรมไมซ์ที่จัดในประเทศไทย ซึ่งเราหวังว่าในอีกสิบปีข้างหน้า ภาพลักษณ์ไมซ์ไทยจะชัดเจนในฐานะแหล่งประชุมที่มีคุณค่าสูง เพิ่มบทบาทไทยในการกระตุ้นไมซ์ทั่วเอเซีย เป็น Springboard of ASIA's Growth ภาคธุรกิจมีความก้าวหน้า มั่นคง"
สำหรับการดำเนินงานในปี 2567 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเป้าหมาย Springboard of Asia's Growth นั้น ทีเส็บจะผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยผ่าน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
ทีเส็บจะขับเคลื่อนโดยใช้ "ต้นทุน" ทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ หรือ Soft Power เป็นตัวสร้างมูลค่าแบบ 360 องศา ในการสร้างประสบการณ์ที่มีอัตลักษณ์ มีคุณค่า และเป็นจุดขายใหม่ ที่ขับเคลื่อนโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีมาตรการในระยะเร่งด่วน (Quick Win) ที่ต้องทำในปี 2567 คือ เร่งทำตลาดเชิงรุกในต่างประเทศ เน้นสร้างเครือข่ายผ่านการทำ Roadshow One-on-One Meeting ควบคู่กับการเปิดเวทีรับฟังความท้าทายต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การสร้างเครือข่ายและโอกาสในเวทีโลก
โดยกำหนดเป้าหมายว่า สิ้นปีงบประมาณ 2567 ประเทศไทยจะมีนักเดินทางไมซ์ รวมทั้งสิ้น 23.2 ล้านคน ทำรายได้ 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 9.6 แสนคน รายได้ 6.3 หมื่นล้านบาท และตลาดในประเทศ 22.2 ล้านคน รายได้ 7.3 หมื่นล้านบาท