เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะ และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรช่างเทคนิคขนส่งทางราง และช่างเทคนิคอากาศยานเพื่อรองรับการมีงานทำและรับค่าจ้างตามฝีมือ ใช่เป็นโมเดลการฝึกทั่วประเทศ โดยมีผู้บริหารของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และวิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชม ณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในวันนี้ผมพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการเรียนการสอนหลักสูตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (New S - Curve) ให้แก่นักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาในปี 2567 จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ ช่างเทคนิคขนส่งทางราง และช่างเทคนิคอากาศยาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และ วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้นักเรียน นักศึกษามีทักษะฝีมือที่พร้อมเข้าสู่การทำงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานใหม่ อีกทั้ง สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านขนส่งทางรางและด้านช่างที่เกี่ยวกับอากาศยาน จึงนำร่องดำเนินการพัฒนาทักษะในด้านดังกล่าวที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งจะมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้นำโมเดลนี้ไปใช้กับจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป เพื่อให้แรงงานใหม่มีงานทำที่มั่นคงเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ก่อนที่จะมารับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนั้น เคยมาร่วมประชุมหารือกับทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อหาแนวทางพัฒนาทักษะความรู้ให้แก่นักเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้เปิดหลักสูตรช่างเทคนิคอากาศยาน เป็นหลักสูตร ปวส. เปิดสอนโดยวิทยาลัยเทคนิคนราธิวาสร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ และมีอาจารย์พิเศษเป็นนายช่างจากการบินไทยมาร่วมสอน ซึ่งหลักสูตรผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและรับรองจากสำนักการบินพลเรือนเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะและคุณลักษณะที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ตลอดจนสามารถปฏิบัติงานได้จริง
ทางด้านของนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเสริมว่า กรมร่วมกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ในการจัดทำหลักสูตรเพื่อใช้ในการฝึกอบรมทั้ง 2 หลักสูตรสำหรับหลักสูตรระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยจะเปิดสอนในปี 2567 ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมขนส่งระบบราง การประกอบอาหารไทยฮาลาล การประยุกต์ใช้งาน PLC ในงานอุตสาหกรรม ช่างเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม นั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส จะให้คำปรึกษาในการขอจัดตั้งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือ คาดว่าจะดำเนินการภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเสริมสร้างทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูง รองรับการจ่ายค่าจ้างที่สูงตามระดับวิชาชีพอีกด้วย